Abstract:
วัตถุประสงค์สำคัญในการศึกษาครั้งนี้เพื่อวิเคราะห์วิถีสัมพันธ์ของตัวประกอบจำนวนหนึ่งที่คาดว่าจะมีผลต่อสัมฤทธิผลในการเรียนภาษาอังกฤษของนิสิตชั้นปีที่ 2 และเพื่อสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ของตัวประกอบดังกล่าวแล้ว พลวิจัยครั้งนี้ได้แก่ตัวอย่างนิสิตชั้นปีที่ 2 จาก 5 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เรียนรายวิชา EAP II ในภาคปลาย ปีการศึกษา 2532 จำนวน 460 คน จากประชากรทั้งหมด 1,006 คนหรือร้อยละ 45.72 ซึ่งได้จากการสุ่มหลายระดับชั้น เครื่องมือในการวิจัยได้แก่แบบทดสอบสัมฤทธิผลที่ใช้จริงในการเรียนรายวิชา EAP II แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน แรงจูงใจ และเจตคติของนิสิต แบบสำรวจนิสัยและเจตคติในการเรียน และแบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานและความคิดเห็นของอาจารย์ แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติบรรยาย multiple regression, F-test, t-test, simple correlation, PLS (Partial Least Square test) และ W test ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. สัมฤทธิผลในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนิสิตได้รับอิทธิพลโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญจากตัวประกอบ (ตัวแปร) 10 ตัว รวมกันร้อยละ 58.81 โดยพื้นความรู้ทางภาษาอังกฤษมีอิทธิพลมากที่สุด คือ ร้อยละ 40.64 และได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากตัวแปรต่างๆ 20 ตัว ซึ่งตัวแปร 5 ตัว มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ คือ อายุ โปรแกรมการเรียน การใช้สื่อมวลชน เจตคติของผู้สอนและความรู้เกี่ยวกับวิธีสอนอิทธิพลโดยตรงจากตัวประกอบด้านผู้เรียน ผู้สอน และหลักสูตร มีอัตราส่วน 6:4:1 2. รูปแบบความสัมพันธ์ที่ตัดแต่งแล้วเป็นแบบผสมและสอดคล้องกับรูปแบบความสัมพันธ์เต็มรูปจากข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างมีนัยสำคัญ รูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าว ประกอบด้วยตัวแปรทำนายที่เป็นสาเหตุรอบนอก 7 ตัว และเป็นตัวแปรทำนายที่เป็นสาเหตุภายใน 17 ตัว รูปแบบนี้สามารถอธิบายความแปรปรวนทั้งระบบได้ร้อยละ 99.69