Abstract:
สารไรนาแคนทิน -ซี่ เป็นสารที่ได้จากใบและรากของต้นทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus KURZ.) สารนี้อยู่ในกลุ่ม naphthoquinone ester โดยพบว่าสารไรนาแคนทิน-ซี จะไปรบกวนการทำงานของทั้ง P-gp และ MRP2 efflux pump โดยออกฤทธิ์กับ P-gp ได้ดีกว่า ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการนำสารดังกล่าวมาศึกษา โดยให้ร่วมกับยาต้านมะเร็งต่างๆ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของยาต้านมะเร็งในเซลล์ให้ความเข้มข้นถึงระดับที่ต้องการ แล้วทำให้ไม่ต้องเพิ่มขนาดของยาต้านมะเร็ง ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาผลของสารไรนาแคนทิน-ซีต่อยาต้านมะเร็ง 4 ตัว ได้แก่ doxorubicin, mitoxantrone, tamoxifen และ vinblastine โดยยาทั้ง 4 ตัวนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันและอยู่ต่างกลุ่มกัน โดยเซลล์ที่ใช้เป็นแบบจำลอง คือ เซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 ซึ่งนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเซลล์ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมเริ่มต้นทำการศึกษาการทำงานของ P-gp, MRP1 และ MRP2 บนของผิวเซลล์มะเร็ง MCF-7 โดยวิธี uptake assay ซึ่งเปรียบเทียบการสะสมของสารเรืองแสงในกลุ่มเซลล์ที่ได้รับตัวยับยั้งที่มีความจำเพาะกับโปรตีนขนส่งยานั้นๆกับกลุ่มโปรตีนที่ได้รับสับเสตรทเพียงอย่างเดียว พบว่ามีการสะสมของสารเรืองแสงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสับเสตรทของ P-gp, MRP1 และ MRP2 8.0 เท่า 1.4 เท่า และ 2.6 เท่า ตามลำดับ อย่างไรก็ตามพบว่า มีเพียง P-gp
และ MRP2 ที่มีการทำงานและการแสดงออกที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p < 0.05 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบนผิวเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง MCF-7 มีการทำงานและการแสดงออกของโปรตีนขนส่งยาที่สอดคล้องกับการทำงานของสารไรนาแคนทิน-ซี ที่ยับยั้งการทำงานของ P-gp และ MRP-2
จากการศึกษาอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ด้วย MTT assay โดยให้สารไรนาแคนทิน-ซี 0.1 nM ร่วมกับยามะเร็งเป็นเวลา 48 ชั่วโมง พบว่าสารไรนาแคนทิน- ไม่มีผลเสริมฤทธิ์ยามะเร็งทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ doxorubicin, mitoxantrone, tamoxifen และ vinblastine ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.05
แต่อย่างไรก็ตามอาจต้องมีการศึกษาสารไรนาแคนทิน-ซี ที่ระดับความเข้มข้นที่สูงขึ้นเพิ่มเติม เพื่อหาความเข้มข้นที่เหมาะสมที่ช่วยเสริมฤทธิ์ของยามะเร็ง และไม่ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็งเพิ่มมากขึ้น