Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและควบคุมความก้าวหน้าของงานซ่อมในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรในงานสร้างถนน โดยได้มองแต่ละงานซ่อมเป็นแต่ละโครงการและมีการดำเนินโครงการตามหลักการบริหารโครงการ (Project Management) เครื่องมือสำคัญในการบริหารโครงการเป็นเครื่องมือในการบริหารความก้าวหน้าของโครงการ ได้แก่ วิธีการวิถีวิกฤต (Critical Path Method, CPM) แผนภูมิแกนต์ (Gantt Chart) และ S Curve โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานวิจัยดังนี้ 1) รวบรวมอาการเสียและวิเคราะห์หาสาเหตุและกำหนดวิธีการซ่อมและเวลามาตรฐานของการซ่อม 2) วิเคราะห์กิจกรรมของการซ่อมโดยใช้ CPM 3) สร้างแผนภูมิแกนต์เพื่อแสดงแผนงานของแต่ละโครงการซ่อม 4) ควบคุมและติดตามความก้าวหน้าของแต่ละโครงการซ่อมโดยใช้ S-curve 5) หามาตรการหรือแผนเร่งรัดเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานของแต่ละโครงการซ่อม งานวิจัยนี้ได้ใช้ระบบฐานข้อมูลเพื่อความสะดวกในการสร้างแผนการซ่อม หลังจากหนึ่งปีของการปรับปรุงพบว่าประสิทธิภาพการบริหารงานซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นโดยระบบหยุดทำงานลดลง เวลาหยุดทำงานของระบบโครงสร้าง (Body System) ลดลงจาก 75 วันเป็น 16 วัน คิดเป็น 78.67% เวลาหยุดทำงานของระบบเครื่องยนต์ (Engine System) ลดลงจาก 122 วันเป็น 54 วัน คิดเป็น 55.74% และเวลาหยุดทำงานของระบบช่วงล่าง (Suspension System) ลดลงจาก 30 วันเป็น 23 วัน คิดเป็น 23.33% เวลาหยุดทำงานของระบบส่งกำลัง (Transmission System) ลดลงจาก 30 วันเป็น 16 วัน คิดเป็น 46.67% เวลาหยุดทำงานของระบบไฮดรอลิก (Hydraulic System) ลดลงจาก 17 วันเป็น 13 วัน เป็น 23.53% เวลาหยุดทำงานของระบบไฟฟ้า (Electrical System) ลดลงจาก 20 วันเป็น 10 วัน เป็น 50% ตามลำดับ