Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลความถูกต้องทางตำแหน่งของการรังวัดแบบ Virtual RINEX ในซอฟต์แวร์หลายยี่ห้อเพื่อนำมาใช้งานแทนที่การรังวัดด้วยโครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (Network-based Real time Kinematic - NRTK) ด้วยเทคนิคสถานีฐานอ้างอิงเสมือน (Virtual Reference Station - VRS) โดยเทคนิคสถานีฐานอ้างอิงเสมือนยังสามารถทำงานแบบการประมวลผลภายหลัง (Post-processing VRS) ได้โดยการสร้างไฟล์สถานีฐานอ้างอิงเสมือน Virtual RINEX ผ่านเว็บไซต์ CORS WEB โดยข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาวิจัยนี้ ประกอบด้วยหมุดทดสอบทั้งหมด 374 หมุด จากพื้นที่ให้บริการโครงข่ายสามเหลี่ยมของสถานีฐานอ้างอิงแบบรับสัญญาณต่อเนื่องถาวร จำนวน 204 ลูป ที่ครอบคลุมพื้นที่ 36 จังหวัดในประเทศไทย แบ่งหมุดทดสอบโดยใช้ค่าเฉลี่ยระยะห่างระหว่างสถานีฐานถาวรออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 10-30, 30-50, 50-70, 70-90 และ 90-110 กิโลเมตร โดยข้อมูลหมุดทดสอบทำการรังวัด 3 วิธีได้แก่ 1) การรังวัดแบบสถิต จำนวน 60 นาที สำหรับใช้เป็นค่าพิกัดอ้างอิง และ 2) การรังวัด NRTK VRS จำนวน 3 นาที 3) การรังวัดแบบ Virtual RINEX ผ่านซอฟแวร์ 3 ค่าย ได้แก่ TBC 5.0, CGO2 และ RTKLIB 2.4.3 ผลการศึกษาพบว่าขนาดของลูปมีผลต่อประสิทธิภาพของการรังวัด VRS และ Virtual RINEX กล่าวคือลูปขนาดเล็กให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าลูปขนาดใหญ่และทุกขนาดของลูปของการรังวัดแบบ Virtual RINEX ที่ประมวลผลผ่าน TBC 5.0 ,CGO2 และ RTKLIB 2.4.3 ให้ค่า RMSE ของตำแหน่งทางราบไม่เกิน 4 เซนติเมตร ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าความถูกต้องทางตำแหน่งของการรังวัดแบบ Virtual RINEX มีความถูกต้องเพียงพอสำหรับงานรังวัดที่ดินในประเทศไทย อย่างไรก็ตามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรังวัดแปลงที่ดิน ดังนั้นควรเพิ่มสถานีฐานอ้างอิงแบบรับสัญญาณแบบต่อเนื่องถาวรเพิ่มเติมและควรตรวจสอบเพื่อจัดการกับค่ากระโดดก่อนนำเอาค่าพิกัดมาใช้งาน อีกทั้งควรใช้เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมยี่ห้ออื่นๆ เพิ่มเติมนอกจาก CHC รุ่น i80 สำหรับการศึกษาในอนาคต