Abstract:
งานวิจัยนี้ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาไม้ไอศกรีมจากผงกล้วยดิบ โดยอาศัยหลักการออกแบบการทดลอง เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าของกล้วยให้กับเกษตรกร และเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบกิจการในการลดขยะที่เกิดจากการทิ้งไม้ไอศกรีมแบบเดิม โดยไม้ไอศกรีมที่ผลิตได้ต้องมีคุณภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ซึ่งเริ่มจากทำการศึกษาวิธีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ผง ด้วยการค้นคว้างานวิจัยและทดลองเบื้องต้น โดยพบว่าแป้งสาลีมีคุณสมบัติของตัวประสานที่ดีที่สุด และวิธีการผลิตอ้างอิงจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ขนมอบในอุตสาหกรรม จากนั้นทำการศึกษาปัจจัย 3 ปัจจัย คือ สัดส่วนผงกล้วยดิบต่อแป้งสาลีเอนกประสงค์ ปริมาณน้ำตาล และเวลาที่ใช้ในการอบ โดยการออกแบบการทดลองแบบบล็อกสุ่มสมบูรณ์ ซึ่งทำการทดสอบคุณภาพทางกายภาพด้านความแข็ง ความเปราะ และคุณภาพทางจุลินทรีย์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถสรุปเงื่อนไขที่เหมาะสมในการผลิตไม้ไอศกรีมจากผงกล้วยดิบที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ได้ดังนี้ คือ สัดส่วนผงกล้วยดิบต่อแป้งสาลีเอนกประสงค์ตั้งแต่ร้อยละ 50:50 จนถึง 80:20 ปริมาณน้ำตาลร้อยละ 40 โดยน้ำหนักส่วนผสมแห้ง และเวลาที่ใช้ในการอบ 40 นาที ซึ่งมีผลของค่าความแข็งเฉลี่ยใกล้เคียงกับไม้ไอศกรีมจากไม้มากที่สุดอยู่ในช่วง 31.49 ± 2.19 นิวตัน ถึง 38.53 ± 4.86 นิวตัน และผลการทดสอบค่าวอเตอร์แอคทิวิตี้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในระหว่างการเก็บรักษาอยู่ในช่วง 0.050 ± 0.002 ถึง 0.112 ± 0.062 นอกจากนี้ ไม้ไอศกรีมจากผงกล้วยดิบยังสามารถรับประทานได้ ซึ่งได้ศึกษาการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อไม้ไอศกรีมจากผงกล้วยดิบ โดยการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสจากการทำแบบสอบถาม และผลทดสอบการยอมรับผลิตภัณฑ์ไม้ไอศกรีมจากผงกล้วยดิบในคุณลักษณะด้านต่างๆ ได้แก่ สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส และความชอบโดยรวมพบว่าอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก โดยผลิตภัณฑ์ที่มีเงื่อนไขสัดส่วนผงกล้วยดิบต่อแป้งสาลีเอนกประสงค์ร้อยละ 50:50 ปริมาณน้ำตาลร้อยละ 40 โดยน้ำหนักส่วนผสมแห้ง และ เวลาที่ใช้ในการอบ 40 นาที มีระดับความชอบโดยรวมมากที่สุด และจากการประเมินต้นทุนในการผลิตไม้ไอศกรีมจากกล้วยดิบผงจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยประมาณอยู่ที่ชิ้นละ 1.57 บาท