Abstract:
จุดมุ่งหมายในการศึกษาครั้งนี้คือ 1) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการเรียนแบบซ่อมเสริม 4 แบบว่า แบบใดมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ ก. แบบมีผู้สอนประจำ และ สอนโดยตรง (DTT) ข. แบบมีผู้สอนและเรียนด้วยตนเอง (TIT) ค. แบบอาศัยข้อมูลของปัญหาเป็นเกณฑ์ (PBT) และ ง. แบบสังเคราะห์ทักษะ (IST) 2) เพื่อศึกษาปัญหาข้อดี และข้อเสียของการเรียนทั้ง 4 แบบ 3) เพื่อศึกษาปัจจัยบางอย่างที่อาจมีผลกระทบต่อสัมฤทธิผลในกาเรียนแต่ละแบบ และ 4) เพื่อหาเกณฑ์ที่เหมาะสมในการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมต่อไป การศึกษาครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 65 คน ซึ่งเป็นผู้สมัครเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษแบบเข้ม ของสถาบันภาษาในระหว่างภาคฤดูร้อน ปี พ.ศ. 2524 บุคคลเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 พวก คือกลุ่มสูง 33 คน และกลุ่มต่ำ 32 คน ทั้งนี้โดยอาศัยคะแนนแบบสอบสมิทธิภาพมาตรฐานเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่ม ตัวอย่างในกลุ่มต่ำแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ๆ ละ 8 คน เท่ากัน โดยวิธีการสุ่มกลุ่มทั้ง 4 ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญด้านการอ่าน การฟังการเขียน และไวยากรณ์ทางภาษาอังกฤษ เมื่อทดสอบด้วย F-test แล้ว (p = .05) ผู้เรียนทั้ง 4 กลุ่ม ได้รับการสอนแตกต่างกันตามวิธีดังกล่าวโดยผู้สอนชุดเดียวกัน ที่สับเปลี่ยนกันสอนอย่างมีระบบ เครื่องมือในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ แบบทดสอบสิทธิภาพมาตรฐาน 1 ชุด แบบสอบถามแรงจูงใจ แบบสอบถามเจตคติ แบบวัดความถนัดทางภาษา แบบวัดนิสัยในการเรียน และแบบสอบถามสถานะภาพทั่วไปของผู้เรียน ภายหลังการเรียนเป็น 150 คาบแล้ว จึงทำการทดสอบภายหลังกลุ่มตัวอย่าง ทั้งหมดด้วยแบบสอบมาตรฐานชุดเดิม แล้ววิเคราะห์ผลการสอบด้วย ANOVA, ANCOVA, Discrimiant Analysis และ Descriptive statistics อื่น ๆ แล้ว ผลสรุปได้ดังนี้ 1. การเรียนการสอนทั้ง 4 แบบ มีผลสัมฤทธิผลในการเรียนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการอ่าน การฟัง การเขียน หรือไวยากรณ์ก็ตาม (p=.05) แต่ความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญเชิงความหมายเมื่อคำนึงถึงคะแนนที่เพิ่มขึ้นจากการสอน การสอนแบบ IST, TIT, PBT และ DTT ให้ผลดีเป็นอันดับที่ 1, 2, 3, และ 4 ตามลำดับ การสอนแต่ละวิธีทำให้ผู้เรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากเดิม 26.52%, 20.40%, 19.50% และ 13.26% ตามลำดับ และสูงกว่าคะแนนของผู้เรียนในกลุ่มสูงที่เรียนโดยวิธีปกติ ซึ่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 9.73% และคะแนนที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มการสอนแบบ IST และ TIT สูงกว่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มการสอนปกติอย่างมีนัยสำคัญ (p=.05) 2. การเรียนการสอนทั้ง 4 แบบ มีข้อดีและข้อเสียมากน้อยเท่า ๆ กัน 3. คะแนนสอบก่อน (พื้นความรู้เดิม) มีผลต่อสัมฤทธิผลในการเรียนอย่างมีนัยสำคัญ (p=.05) โดยเฉพาะทักษะการฟัง และไวยากรณ์ทางภาษา และพบว่า การสอนของครูภาษาอังกฤษในระดับมัธยมปลายมีผลต่อทักษะการอ่านของผู้เรียนอย่างมีนัยสำคัญ (p=.05) ส่วนตัวแปรอื่นที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 15 ตัว เช่น นิสัยในการเรียน ความถนัดทางภาษา แรงจูงใจ เป็นต้น ไม่มีผลต่อการเรียนแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 9p=.05) 4. ชุดของตัวแปรที่อาจใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้อย่างเหมาะสม คือทักษะการอ่าน การฟัง ไวยากรณ์ และการเขียน ตัวแปรเหล่านี้มีค่าน้ำหนักในการจำแนกอย่างมีนัยสำคัญ 65%, 42%, 21% และ 19% ตามลำดับ ส่วนแรงจูงใจ อายุ เวลา ในการเดินทางมาศึกษา ความสูง น้ำหนัก และจำนวนปีในการศึกษาภาษาอังกฤษนั้น ต่างมีผลอย่างไม่มีนัยสำคัญสำหรับเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่ม แต่ตัวแปรต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อรวมกับตัวแปรชุดแรก จะใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มได้อย่างถูกต้อง 96.92% (p=.05)