Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ 1) เพื่อสังเคราะห์คุณลักษณะของวิทยานิพนธ์และบริบทที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ทางพัฒนศึกษา ระหว่างปี พ.ศ. 2521-2559 และ 2) เพื่อนำเสนอแนวโน้มการทำวิทยานิพนธ์ทางพัฒนศึกษาที่สอดคล้องและส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่นำมาสังเคราะห์มีจำนวน 643 เล่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เอกสาร การวิเคราะห์เนื้อหา การสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบบันทึกข้อมูลและแบบสัมภาษณ์ ผลการสังเคราะห์วิทยานิพนธ์พบว่า 1.วิทยานิพนธ์ส่วนมากเป็นวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต โดยมากมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสนับสนุน ส่งเสริม และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชนทั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะร่วมกัน รองลงมาคือการวิเคราะห์สถานการณ์และนำเสนอแนวทางการพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ในระดับชุมชน ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ส่วนมากเป็นการวิจัยแบบผสมผสานที่มีหลายขั้นตอน ข้อค้นพบจากวิทยานิพนธ์คือ การได้องค์ความรู้จากการศึกษาประเด็นต่าง ๆ ในเชิงลึก การได้คู่มือหรือรูปแบบการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ และการประเมินผลของแนวทางหรือกระบวนการพัฒนาทั้งที่เกิดจากภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนที่ผ่านมา 2.ผลการสังเคราะห์แนวโน้มการทำวิทยานิพนธ์ที่สอดคล้องและส่งผลต่อการพัฒนาประเทศพบว่า 1) ประเด็นของการทำวิทยานิพนธ์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น 2) การจัดการเรียนการสอนที่ประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่มากกว่าการเรียนแบบบรรยายในห้องเรียน และการเปิดหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรออนไลน์ 3) วิทยานิพนธ์ต้องมีวิสัยทัศน์และพร้อมตั้งรับกับพลวัตการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับโลกมากกว่าการศึกษาการพัฒนาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 4) การสร้างทฤษฎีฐานรากจากการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย การสร้างสรรค์กระบวนการวิจัยที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ที่เป็นนักคิด นักวิชาการ และผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง และ 5) การสร้างความร่วมมือทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งด้านวิชาการ การร่วมกำหนดทิศทางประเด็นการทำวิทยานิพนธ์เพื่อก่อเกิดเป็นพลังสู่การขับเคลื่อนได้จริง การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนิสิตนักศึกษา การจัดประชุมวิชาการและการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้ได้บัณฑิตที่ “มองปัญหาออก แก้ปัญหาเป็น และสร้างกระบวนการได้”