Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการดำเนินการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจาในเมียนมา เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินการของ HRC ว่ามีอิทธิพลต่อท่าทีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเมียนมาอย่างไร และเผชิญอุปสรรคและข้อจำกัดอย่างไร โดยผู้วิจัยจะใช้กรอบแนวคิดกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและแบบจำลองสไปรัลมาประกอบการวิเคราะห์
จากการศึกษาพบว่า HRC มุ่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้างต้น โดยการเปิดเวทีให้ภาคส่วนระหว่างประเทศเรียกร้องและมีข้อเสนอแนะให้เมียนมายอมรับบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกการประชุมสมัยสามัญและสมัยพิเศษและกระบวนการ UPR ในขณะที่มอบอำนาจให้ผู้รายงานพิเศษฯ ประมวลข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจา เพื่อเผยแพร่ประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การรับรู้ของประชาคมโลก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ส่งผลให้เมียนมาตอบสนองโดยการปฏิเสธข้อกล่าวหาที่มีต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เมียนมาได้ปฏิบัติตามข้อเสนอของ HRC ในบางประเด็น เช่น การพิสูจน์สัญชาติ การส่งกลับผู้หนีภัยโดยสมัครใจ แต่เป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากลมากนัก โดยเมื่อวิเคราะห์ผ่านแบบจำลองสไปรัลนั้น ถือได้ว่า การตอบสนองของเมียนมาต่อ HRC ยังคงอยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 ทั้งนี้ การที่ HRC ไม่สามารถส่งเสริมให้เมียนมาปฏิบัติตามบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนจนนำไปสู่ระยะที่ 5 ของแบบจำลองสไปรัลนั้น เกิดจากอุปสรรคและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคมภายในประเทศ รัฐบาลเมียนมา และกลไกของ HRC ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการร่วมกันในหลายภาคส่วนเพื่อให้เมียนมาเปลี่ยนแปลงท่าทีและยอมรับบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากลมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจาในระยะยาว