Abstract:
การเสนอขายสินค้าเลียนแบบเป็นการกระทำทางการค้าที่สามารถพบได้ในชีวิตประจาวัน ในหลายกรณีการกระทำทางการค้าดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อถูกหลอกลวงในแหล่งที่มาของสินค้า ในบางกรณีการเสนอขายสินค้าเลียนแบบอาจเป็นการใช้ประโยชน์จากความนิยมของผู้ผลิตสินค้าต้นแบบอย่างไม่เหมาะสม หรือเป็นการทำลายความนิยมของสินค้าต้นแบบอย่างไม่เหมาะสม ในบางโอกาสการเสนอขายสินค้าเลียนแบบยังมีความเชื่อมโยงกับการได้ข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการผลิตสินค้าเลียนแบบมาโดยมิชอบอีกด้วย การเสนอขายสินค้าเลียนแบบในกรณีตามที่กล่าวมาเหล่านั้นล้วนแต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ผลิตสินค้าต้นแบบทั้งสิ้น กระนั้นเอง การกระทำทางการค้าดังกล่าวอาจไม่ได้เข้าข่ายเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยเหตุผลบางประการ เช่น การหมดอายุความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าต้นแบบ เป็นต้น จึงเป็นที่มาสู่ปัญหาว่า จะมีกลไกทางกฎหมายอื่นใดที่จะช่วยป้องกันและชดใช้ความเสียหายในกรณีดังกล่าวได้บ้างหรือไม่
วิจัยฉบับนี้เสนอว่า มาตรา 57 พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการห้ามการกระทำทางการค้าอันไม่เป็นธรรมนั้น สามารถนำมาใช้ป้องกันการเสนอขายสินค้าเลียนแบบในพฤติการณ์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ ทั้งนี้ วิจัยฉบับนี้ ได้นำเสนอแนวทางในการปรับใช้มาตรา 57 พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กับการกระทำทางการค้าดังกล่าว รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถต่อต้านการกระทำทางการค้าเช่นว่าได้อย่างเหมาะสม