Abstract:
วัตถุประสงค์: การประเมินผลครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญดังต่อไปนี้ 1.เพื่อค้นหาว่าหลักสูตรนี้สนองความต้องการของสังคม คณะ และผู้เรียนมากน้อยเพียงใด 2. เพื่อค้นหารว่าหลักสูตรนี้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกันแนวโน้มใหม่ทางด้านการเรียนการสอนภาษามากน้อยเพียงใด และเหมาะสมกับพื้นฐานเดิมของภาษาของผู้เรียนมากน้อยเพียงใด 3. เพื่อประเมินว่าวัตถุประสงค์ ความมุ่งหมาย เป้าหมาย เนื้อหา นอกจากการเรียนการสอนและวิธีการวัดและประเมินผลสัมฤทธิผลในการเรียนของหลักสูตรมีความเกี่ยวข้องกันมากน้อยเพียงใด 4. เพื่อประเมินว่า เนื้อหา การเรียงเนื้อหา และกระบวนการในการเรียนการสอนมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด 5. เพื่อประเมินว่า ผลผลิตของหลักสูตรนี้ในด้านสัมฤทธิผลในการเรียนและแรงจูงใจ มีมากน้อยเพียงใด วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง: กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่นิสิตชั้นปีที่ 1 จำนวน 1,418 คน จากนิสิตทั้งหมดประมาณ 3,300 คน จาก 15 คณะ และอาจารย์อีก 26 คน จากอาจารย์ที่ทำการสอนหลักสูตรดังกล่าวนี้ 73 คน ตัวอย่างนี้ได้จากวิธีการสุ่มอย่างง่าย นอกจากนี้ ยังใช้นิสิตชั้นปีที่ 1 อีก 1,044 คน และผู้บริหารระดับสูงอีก 136 คน จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในปี 2526 เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการประเมินผลครั้งนี้ด้วย เครื่องมือการประเมิน: การประเมินนี้อาศัยแบบสอบถาม 2 ชุด ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือและอาศัยแบบสอบถามอีก 2 ชุด จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาศัยแหล่งข้อมูลอีกมากเพื่อการรวบรวมข้อมูล เช่น หนังสือเรียนในระดับมัธยมศึกษา ความคิดเห็นของผู้เรียนและผู้สอน จากการสอบถามและสัมภาษณ์ ตำราเรียน และคู่มือครู เป็นต้น วิธีการประเมิน: การประเมินผลครั้งนี้อาศัยรูปแบบผสมระหว่าง CIPP Model, Stake's Model และ Puissance Technique ซึ่งรวมเรียกว่า CIPP/SP Model ผู้ประเมินใช้แนวคิดของ CIPP Model เป็นกรอบสำคัญในการประเมินผลครั้งนี้ โดยการแบ่งวัตถุประสงค์ออกเป็นคำถามเชิงประเมินจำนวนหนึ่งที่ครอบคลุมสิ่งที่มุ่งประเมิน วางกรอบในการหาข้อมูล แหล่งของข้อมูล และลักษณะของข้อมูลที่ได้กับเกณฑ์นั้น โดยอาศัยหลักการทางสถิติ ใช้ Stake's Model ในการประเมินความสอดคล้องและความสัมพันธ์ของข้อมูลในมิติต่าง ๆ แล้วใช้ Puissance Technique ในการคำนวณหาระดับคุณภาพของเนื้อหาของหลักสูตร การวิเคราะห์ข้อมูล: ข้อมูลเพื่อการประเมินผลครั้งนี้วิเคราะห์โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อ SPSS X โดยใช้โปรแกรม t-test, X[square]-test ความสัมพันธ์แบบง่ายแบะอันดับ รวมทั้งการใช้ความคิดเห็นของอาจารย์ผู้สอนและความเห็นของผู้ประเมินด้วย สรุปผลการวิจัย: 1. หลักสูตรนี้สนองความต้องการของสังคม คณะ และผู้เรียนได้เป็นอย่างดี สังคม คณะ และผู้เรียนต้องการใช้ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะด้านการอ่าน และการเขียนในระดับปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรซึ่งเน้นที่การอ่านและการเขียนเช่นเดียวกัน 2. หลักสูตรมีความสัมพันธ์กับแนวโน้มใหม่ทางด้านการเรียนการสอนภาษาเป็นอย่างดี และเหมาะสมกับพื้นฐานทางภาษาของผู้เรียนเป็นอย่างดี หลักสูตรนี้เน้นหนักที่การเรียนการสอน เพื่อการสื่อสารและมีคำศัพท์ประมาณร้อยละ 65 โครงสร้างทางภาษาประมาณร้อยละ 50 และรูปคำของคำศัพท์ประมาณร้อยละ 36 ที่นิสิตโดยมากได้เคยเรียนมาแล้วในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3. วัตถุประสงค์ ความมุ่งหมาย เป้าหมาย เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของหลักสูตรมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี 4. เนื้อหาของหลักสูตรมีคุณภาพและความเหมาะสมกับผู้เรียนในระดับปานกลาง แต่การเรียงเนื้อหายังไม่เป็นระบบที่ดี และการเรียนการสอนยังไม่เหมาะสมกับหลักสูตรที่เน้นการสื่อความหมายเป็นสำคัญมากนัก 5. ผลผลิตของหลักสูตรด้านสัมฤทธิ์ผลในการเรียนและแรงจูงใจ อยู่ในระดับปานกลาง นิสิตโดยมากสามารถสัมฤทธิผลด้านการอ่าน แต่ด้านการเขียนยังต้องปรับปรุงแก้ไข ข้อเสนอแนะ: 1. ควรจัดหลักสูตรให้มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่เอื้อให้เกิดสัมฤทธิผลด้านการเขียนมากยิ่งขึ้น 2. ควรพิจารณาปรับปรุงการเรียงเนื้อหาหลักสูตรให้มีระบบที่เอื้อให้เกิดผลดีทางการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น 3. ควรมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่อาจารย์ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสอนภาษาตามแนวการสอนใหม่ เพื่อให้อาจารย์มีความเข้าใจและมั่นใจในการสอนดังกล่าวมากยิ่งขึ้น 4. ควรให้มีการฝึกอบรมภาษาแบบเข้มแก่อาจารย์ผู้สอนบางท่านเพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้ภาษาให้มีมากขึ้น 5. อาจารย์ผู้สอนควรชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจการเรียนภาษาแนวใหม่ว่าเป็นอย่างไร และนิสิตควนเรียนอย่างไร ก่อนเริ่มการเรียน