Abstract:
การขึ้นรูปพอลิเมอร์ด้วยกระบวนการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิตแบบอิมัลชัน สามารถขึ้นรูปเส้นใยเพื่อใช้เป็นวัสดุปิดบาดแผล โดยพอลิแลคติก-โค-ไกลโคลิกแอซิดและพอลิแลคติกแอซิดเป็นพอลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและมีความเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อ ในงานวิจัยนี้จึงสนใจนำพอลิแลคติก-โค-ไกลโคลิกแอซิดและพอลิแลคติกแอซิดมาขึ้นรูปเส้นใยที่บรรจุยานีโอมัยซินด้วยเทคนิคการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิตแบบอิมัลชัน โดยศึกษาความเข้มข้นของพอลิเมอร์ ศักย์ไฟฟ้าที่ให้แก่ระบบ และอัตราการไหลของสารต่อการขึ้นรูปเส้นใย เส้นใยที่เตรียมได้นำไปพิสูจน์เอกลักษณ์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด และศึกษาการปลดปล่อยของยาจากเส้นใยด้วยเทคนิคยูวี-วิสิเบิลสเปกโทรสโกปี จากผลการทดลองพบว่าพอลิแลคติก-โค-ไกลโคลิกแอซิดไม่สามารถขึ้นรูปเส้นใยได้ ดังนั้นจึงใช้พอลิแลคติกแอซิดในการขึ้นรูปเส้นใย ได้ภาวะที่เหมาะสม คือ ความเข้มข้นของพอลิแลคติกแอซิด 6.5%wt ของสารละลาย ความเข้มข้นของนีโอมัยซิน 5%wt ของพอลิเมอร์ ความเข้มข้นของสแปน 80 10%wt ของพอลิเมอร์ ค่าศักย์ไฟฟ้า 22 kV ระยะห่างระหว่างปลายเข็มโลหะกับวัสดุรองรับคงที่ที่ 20 cm และอัตราการไหลของสาร 2.0 mL/h โดยเส้นใยที่เตรียมได้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับ 0.315±0.110 μm จากการศึกษาการปลดปล่อยของยานีโอมัยซินจากเส้นใยพอลิแลคติกแอซิด พบว่าที่ 5 นาทีแรกมีการปลดปล่อยยาแบบรวดเร็ว โดยมีเปอร์เซ็นต์การปลดปล่อยยานีโอมัยซินเท่ากับ 39.4% และที่เวลา 60 นาที มีเปอร์เซ็นต์การปลดปล่อยยานีโอมัยซินเท่ากับ 54.5%