Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเมล็ดกระทงลายที่เก็บจาก ตำบลตาลชุม อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สารสกัดโดยใช้ตัวทำละลายได้แก่ เฮกเซน เอทิลแอซีเทต และเมทานอล การทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระด้วยเทคนิคการดักจับอนุมูลอิสระ 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) โดยใช้ Trolox เป็น positive control ผลการวิจัยพบว่าสารสกัดชั้นเฮกเซน เอทิลแอซีเทตและเมทานอล แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีค่า TEAC เท่ากับ 0.16, 0.23 และ 0.10 mg Trolox/g Sample ตามลำดับ นอกจากนี้ได้ทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งแอลฟากลูโคซิเดสและไลเปสของสารสกัดชั้นเฮกเซน เอทิลแอซีเทต และเมทานอลที่ความเข้มข้น 25 mg/mL แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสเท่ากับ 100, 98.2 และ 97.3% ตามลำดับ และแสดงฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไลเปสเท่ากับ 73.5, 85.4 และ 83.4 % ตามลำดับ แยกสารสกัดชั้นเฮกเซนด้วยเทคนิคคอลัมน์โครมาโทกราฟี ได้ 16 ส่วนแยก (A1-A16) พบว่าส่วนแยก A3 มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่าสารสกัดชั้นเฮกเซน ซึ่งผล ¹H NMR ของสารสกัดชั้นเฮกเซนและส่วนแยก A3 มีองค์ประกอบหลักเป็นกรดไขมันและกลีเซอไรด์ ดังนั้นจึงวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของส่วนแยก A3 และสารสกัดชั้นเฮกเซนด้วยเทคนิคแก๊สโครมาโทรกราฟี-แมสสเปกโทรเมทรี (GC-MS) พบว่าส่วนแยก A3 ประกอบด้วย palmitic acid (81.63%), oleic acid (4.50%) และstearic acid (11.5%) และสารสกัดชั้นเฮกเซนประกอบ ด้วย oleic acid (52.11%), palmitic acid (37.04%), stearic acid (5.68%) และ linoleic acid (5.17%) นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์องค์ประกอบสารระเหยของเมล็ดกระทงลายพบว่าสารระเหยของเมล็ดที่มีปริมาณสูง คือ สารในกลุ่ม alkaloid และกลุ่ม sesquiterpenoids