Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการสังเคราะห์อนุภาคระดับไมโครเมตรของซิลิกาจากเถ้าแกลบข้าวและดัดแปรผิวด้วยกรดฮิวมิก ซิลิกาเตรียมได้จากการนำเถ้าแกลบข้าวมาละลายและตกตะกอนด้วยกระบวนการโซลเจลในสองรูปแบบ คือ สกัดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ความเข้มข้น 2.5 โมลต่อลิตร และสกัดด้วยสารละลายไฮโดรคลอริกที่ความเข้มข้น 1.5 โมลต่อลิตร ก่อนที่จะทำการสกัดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ความเข้มข้น 2.5 โมลต่อลิตร เพื่อทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความบริสุทธิ์ของซิลิกาจากเถ้าแกลบข้าวที่สังเคราะห์ผ่านทั้งสองวิธี จากการวิเคราะห์สารตัวอย่างที่สังเคราะห์ได้ด้วยเทคนิคฟูเรียทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (FTIR) พบพันธะในกลุ่มซิลินอลและกลุ่มไซโลเซน และจากการวิเคราะห์โครงสร้างผลึกด้วยเทคนิคเอกซเรย์ดิฟแฟรกชัน (XRD) พบพีคที่วางที่ตำแหน่ง 20 เท่ากับ 22-23 ปรากฏเฟสที่เป็นอสัณฐาน จึงสามารถยืนยันเฟสและโครงสร้างที่แท้จริงของซิลิกาได้ เมื่อทำการเปรียบเทียบซิลิกาที่สังเคราะห์ได้จากสองวิธี พบว่าการสกัดเถ้าแกลบข้าวด้วยสารละลายไฮโดรคลอริกก่อนที่จะทำการสกัดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ให้ซิลิกาที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการสกัดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เพียงอย่างเดียว ผลการทดลองจากเทคนิคเอกซ์เรย์ฟลูออเรสเซนซ์ (SRF) พบว่า การสกัดเถ้าแกลบข้าวด้วยสารละลายไฮโดรคลอริกก่อนที่จะทำการสกัดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ให้ซิลิกาที่มีความบริสุทธิ์สูงกว่า จากปริมาณซิลิการ้อยละ 93.8 และ 79.0 ตามลำดับ ภาพถ่ายจากเทคนิคการใช้กล้องจุลทรรษน์แบบส่องกราด (SEM) และเทคนิคการวัดการกระจายตัวของขนาดอนุภาคด้วยแสงเลเซอร์ (PSD) พบว่าพื้นผิวค่อนข้างเรียบ รูปร่างค่อนข้างกลม เล็ก มีการเกาะเป็นกลุ่มและมีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 7 และ 9 ไมโครเมตร ตามลำดับ พื้นที่ผิวจำเพาะเท่ากับ 775 และ 660 ตารางเมตรต่อกรัม ตามลำดับ และนำซิลิกาที่สังเคราะห์ได้มาดัดแปรพื้นผิวโดยการเคลือบด้วยกรดฮิวมิก พิสูจน์เอกลักษณ์ด้วยเทคนิคฟูเรียทรานฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (FTIR) พบว่าซิลิกาที่สังเคราะห์จากเถ้าแกลบข้าวสามารถดัดแปรพื้นผิวโดยการเคลือบด้วยกรดฮิวมิกได้