Abstract:
ปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียบนวัสดุในชีวิตประจำวัน จัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากปัญหาการดื้อยาที่รุนแรง ทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้นมาตรการป้องกัน เช่น การพัฒนาพื้นผิววัสดุให้มีสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียจึงจัดเป็นมาตรการสำคัญรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหานี้ลงได้ ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้ทดลองดัดแปรผิวของเหล็กกล้าไร้สนิมซึ่งเป็นวัสดุที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวัน ให้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยอาศัยปฏิกิริยาการเคลือบและพอลิเมอไรเซชันของพอลิโดพามีนบนพื้นผิวเหล็กกล้าไร้สนิม ซึ่งจะทำให้พื้นผิวมีหมู่ฟังก์ชันอินทรีย์ที่เหมาะสมแก่การตรึงสารประกอบอินทรีย์อื่น โดยผู้วิจัยได้ศึกษาการตรึงสารประกอบ 4,7,10-trioxa-1,13-tridecanediamine (TTD) และอนุพันธ์ของ TTD ที่มีหมู่ปกป้อง Boc (TTDBoc) ลงบนพื้นผิวด้วยวิธีทางเคมี จากนั้นได้พิสูจน์การตรึงสารบนผิวโดยใช้เทคนิคการวัดมุมสัมผัสน้ำและเทคนิค ATR-FTIR spectroscopy และทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของวัสดุดัดแปรกับเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Escherichia coli ผลการทดลองพบว่า แม้การตรึงสารประกอบน่าจะเกิดได้จริง แต่วัสดุดัดแปรที่ได้ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองที่ได้สามารถเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด หรือนำไปทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นที่มีสมบัติแตกต่างกันต่อไป