Abstract:
ไกลโฟเสตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีความเป็นพิษ อีกทั้งมีความเสถียรต่อความร้อน จึงตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดิน และในน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตรได้ง่าย การพัฒนาชุดตรวจวัดไกลโฟเสตเพื่อนำไปใช้งานในพื้นที่การเกษตรจึงมีความสำคัญ เพื่อใช้ตรวจวัดปริมาณของไกลโฟเสตที่ตกค้างในน้ำ โดยใช้ปฏิกิริยาการเกิดสารเชิงซ้อนระหว่างไอออนเหล็ก (III) กับไกลโฟเสต และตรวจวัดปริมาณไอออนเหล็ก (III) ที่เหลือด้วยไอออนไธโอไซยาเนต โดยทำการศึกษาหาภาวะ pH ที่เหมาะสมสำหรับการเกิดสารเชิงซ้อนของไอออนเหล็ก (III) กับไกลโฟเสต ซึ่งได้ pH ที่เหมาะสมที่ 2.9 และ 3.8 และควบคุม pH ด้วยบัฟเฟอร์ แอซิติก/แอซิเตต จากนั้นศึกษาอัตราส่วนความเข้มข้นที่เหมาะสมของไอออนเหล็ก (III) กับไกลโฟเสต ดังที่กล่าวมาข้างต้นปริมาณของไอออนเหล็ก (III) ที่เหลือจะถูกตรวจวัดด้วยสารละลายโพแทสเซียมไธโอไซยาเนต ให้เกิดสารเชิงซ้อนละลายน้ำที่มีสีแดง อย่างไรก็ตามสารเชิงซ้อนละลายน้ำที่มีสีแดงนั้นไม่สามารถสังเกตได้ในระบบบัฟเฟอร์แอซิติก/แอซิเตต และอัตราส่วนความเข้มข้นของไอออน Fe(III) กับไกลโฟเสตที่ใช้ได้เป็น 2:1 และทำการพิสูจน์เอกลักษณ์ของตะกอนของสารเชิงซ้อนไอออนเหล็ก (III) กับไกลโฟเสต ด้วยเทคนิค ATR-FTIR ผลการทดลองแสดงว่าตะกอนที่สังเกตได้เป็นตะกอนของสารเชิงซ้อนระหว่างไอออนเหล็ก (III) กับไกลโฟเสต