Abstract:
สารประกอบไดอะโซเนียมนิยมนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำปฏิกิริยาคัปปลิงในสภาวะที่ใช้โลหะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและอุณหภูมิสูง เพื่อเป็นการพัฒนากระบวนการดังกล่าว งานวิจัยนี้ได้สนใจนำสารประกอบไดอะโซเนียมมาทำปฏิกิริยาคัปปลิงโดยมีโรสเบงกอลเป็นตัวเร่งเชิงแสงที่อุณหภูมิห้อง ผู้วิจัยได้ทำการสังเคราะห์สารประกอบไดอะโซเนียม 3 ชนิด คือ 4-ไนโตรเบนซีนไดอะโซเนียม เตตระฟลูออโรโบเรต (1a) 4-โบรโมเบนซีนไดอะโซเนียม เตตระฟลูออโรโบเรต (2a) และ 4-เมธิลเบนซีนไดอะโซเนียม เตตระฟลูออโรโบเรต (3a) โดยมีร้อยละผลได้อยู่ในช่วง 31-52% และนำมาทำปฏิกิริยาคัปปลิงโดยมีโรสเบงกอลเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงเพื่อเตรียมสารประกอบ 3 กลุ่ม คือ 1) สารประกอบไธโออีเทอร์แบบไม่สมมาตร 2) สารประกอบอะเซตาไมด์ 3) สารประกอบไธโออีเทอร์แบบสมมาตร ซึ่งการสังเคราะห์สารประกอบไธโออีเทอร์แบบไม่สมมาตรนั้น ได้ใช้สารประกอบไดอะโซเนียม 2a ทำปฏิกิริยากับ 2-เมอร์แคปโตไพริดีน (b) ในตัวทำละลายอะซิโตไนไตรล์โดยมีโรสเบงกอล 5% โมลเป็นตัวเร่งเชิงแสงและฉายแสง LED ให้กับปฏิกิริยาเป็นเวลา 16 ชั่วโมง พบว่าได้ผลิตภัณฑ์ คือ 2-((4-โบรโมฟีนิล)ไธออล) ไพริดีน (2b) มีร้อยละผลได้ 44% ในการสังเคราะห์สารประกอบอะเซตาไมด์นั้น ผู้วิจัยได้ใช้สารประกอบไดอะโซเนียม 2a และ 3a เป็นสารตั้งต้นมาทำปฏิกิริยากับอะซิโตไนไตรล์ภายใต้การฉายแสง LED ให้กับปฏิกิริยา พบว่าได้ผลิตภัณฑ์อะเซตาไมด์ 2c และ 3c โดยมีร้อยละผลได้ 42% และ 87% ตามลำดับและในการสังเคราะห์สารประกอบไธโออีเทอร์แบบสมมาตรนั้น ผู้วิจัยได้ใช้สารประกอบไดอะโซเนียม 2a มาทำปฏิกิริยากับโซเดียมซัลไฟด์โนนาไฮเดรต (4) ผ่านปฏิกิริยาเชิงแสงโดยมีโรสเบงกอลเป็นตัวเร่งเชิงแสง ผู้วิจัยพบว่าเมื่อใช้ตัวทำละลาย THF ในน้ำอัตราส่วน 1 ต่อ 1 สามารถเตรียมสารประกอบไธโออีเทอร์ 2d โดยมีร้อยละผลได้ 18% เป็นผลิตภัณฑ์เดียว