Abstract:
ในการศึกษารายวิชาเคมีทั่วไปของนิสิตชั้นปีที่ 1 ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ออร์บิทัลเชิงอะตอม (atomic orbital) เป็นความรู้พื้นฐานทางเคมีที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความเข้าใจในเคมีเพื่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากมโนทัศน์นี้มีลักษณะเป็นนามธรรมและมีความซับซ้อน นิสิตจำนวนมากจึงมีปัญหาในการทำความเข้าใจ ซึ่งอาจเกิดจากการยึดติดกับแบบจำลองอะตอมของโบร์ที่เคยเรียนมาในระดับมัธยมศึกษาซึ่งง่ายต่อความเข้าใจมากกว่า ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยเลือกใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบ active learning เพื่อกระตุ้นการขยายและปรับความรู้เข้าสู่โครงสร้างในหัวข้อดังกล่าว ได้ทำการทดลองกับนิสิตกลุ่มตัวอย่าง 4 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของ “เด็กเก่ง” และ “เด็กอ่อน” ในรายวิชาเคมีทั่วไป ให้ทำแบบทดสอบก่อนและหลังกิจกรรม เพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจตามจุดประสงค์การเรียนรู้ทั้ง 5 ข้อ พบว่าคะแนนจากการทำแบบทดสอบโดยภาพรวมสูงขึ้นสำหรับทุกคน ซึ่งคะแนนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจุดประสงค์ข้อที่ 3, 4 และ 5 ซึ่งเป็นความรู้ในระดับความจำ (knowledge) ตามทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม อย่างไรก็ตาม คะแนนของเด็กอ่อนในจุดประสงค์ข้อที่ 1 และ 2 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งกิจกรรมอาจสร้างให้เกิดความสับสนแก่เด็กอ่อนในระดับความเข้าใจในหัวข้อที่ซับซ้อนและมีเป็นนามธรรมเช่นนี้