Abstract:
เนื่องจากบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีนโยบายในการผลิตไข่ไก่ที่เน้นคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก ดังนั้นขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพจึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อการควบคุมคุณภาพของไข่ไก่ โดยวิธีมาตรฐานในการตรวจวัดความสดของของไข่ไก่จะดูจากค่าหน่วยฮอก ซึ่งคำนวณได้จากน้ำหนักของไข่และความสูงของไข่ขาวส่วนข้น แต่วิธีดังกล่าวเป็นวิธีตรวจวัดที่ทำลายตัวอย่าง ส่งผลให้ทางบริษัทไม่สามารถตรวจวัดความสดของไข่ไก่ได้ทุกฟอง การวิเคราะห์จึงเป็นเพียงการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีไข่ไก่ที่มีความสดต่ำกว่ามาตรฐานปะปนเข้าไปในสายการผลิตและกระบวนการแปรรูป งานวิจัยนี้จึงสนใจที่จะประยุกต์ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปีประกอบกับการคำนวณทางเคโมเมทริกซ์มาใช้ในการตรวจสอบความสดของไข่ไก่ โดยศึกษาผลกระทบของตำแหน่งของไข่ไก่ที่ใช้วัดสัญญาณเนียร์อินฟราเรดสเปกตรัม (ด้านแหลมและด้านป้าน) พบว่าสมการสอบเทียบทางเคโมเมทริกซ์สำหรับใช้ทำนายค่าหน่วยฮอกซึ่งเป็นตัวแทนความสดของไข่ไก่ด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดบางส่วน ให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ในช่วง 0.78-0.79 และค่าความผิดพลาดเฉลี่ยกำลังสองของการทำนายอยู่ในช่วง 6.75-7.00 นอกจากนี้การทำนายเกรดของไข่ไก่ตามเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 6702-2553 ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์การจำแนกประเภทเชิงเส้นพบว่าสามารถทำนายเกรด AA และเกรด B ของไข่ไก่มีความแม่นยำถึง 80-84 % และ 70-75 % ตามลำดับ แต่ให้ค่าความถูกต้องในการทำนายไข่ไก่เกรด A ต่ำ และเมื่อพิจารณาการทำนายเกรดของไข่ไก่จากเกณฑ์ที่อ้างอิงตามเกณฑ์โรงงานแปรรูป (ค่าหน่วยฮอก ≥ 70) และเกณฑ์โรงคัดไข่ไก่ (ค่าหน่วยฮอก ≥ 80) ของบริษัทซีพีเอฟ มีความแม่นยำถึง 83-86 % และ 69-80 % ตามลำดับ ซึ่งค่าการทำนายของทั้งสองตำแหน่งให้ผลการทำนายที่มีแนวโน้มเดียวกัน