Abstract:
การผสมข้ามสายพันธุ์ คือการผสมพันธุ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดกันทางวิวัฒนาการและมีกลไกแบ่งแยกทางการสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ ซึ่งลูกผสมที่เกิดขึ้นอาจเป็นตัวกลางในการถ่ายเทเคลื่อนย้ายยีนระหว่างประชากรของสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดได้ การศึกษาเกี่ยวกับการผสมข้ามสายพันธุ์ในสัตว์ปีก โดยเฉพาะในกลุ่มนกน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นั้นพบได้ค่อนข้างจำกัด การศึกษาก่อนหน้าพบการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างนกกาบบัวและนกกระสาปากเหลืองในสภาพกรงเลี้ยงในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จึงสนใจใช้เทคนิคทางด้านชีวโมเลกุลมาตรวจสอบการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างนกทั้งสองชนิดนี้ในประเทศไทย โดยเก็บตัวอย่างเลือดของนกกาบบัวจำนวน 174 ตัว จากสวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพมหานคร และนกกระสาปากเหลืองจำนวน 49 ตัว จากสวนสัตว์นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นสกัดดีเอ็นจากตัวอย่างเลือดที่เก็บมาทั้งหมด เพิ่มปริมาณนิวเคลียร์ดีเอ็นเอด้วยเทคนิค Random Amplified Polymorphic DNA (RAPD) โดยใช้ไพรเมอร์ LR7 และวิเคราะห์ผลลายพิมพ์ดีเอ็นเอของทุกตัวอย่างด้วยวิธี gel electrophoresis และ genotyping ผลการศึกษาพบอัลลีลจำนวน 122 และ 115 อัลลีล ในจีโนมของนกกาบบัวและนกกระสาปากเหลือง ตามลำดับ และพบอัลลีลที่มีความจำเพาะและสามารถใช้ระบุชนิดของนกกระสาปากเหลืองได้จำนวน 2 อัลลีล ได้แก่ อัลลีลที่มีขนาด 1055 และ 1077 คู่เบส และเมื่อตรวจสอบอัลลีลทั้งหมดในกลุ่มของนก intermediate ที่มีลักษณะคล้ายนกกาบบัว ก็พบอัลลีลที่จำเพาะต่อนกกระสาปากเหลืองในจีโนมของนก intermediate เหล่านั้น ผลที่ได้แสดงว่าเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างนกกาบบัวและนกกระสาปากเหลืองในสภาพกรงเลี้ยงในประเทศไทย