Abstract:
ข้อมูลกระแสน้ำที่ผิวที่ได้จากดาวเทียมอัลติมิเตอร์ถูกนำใช้เพื่อศึกษารูปแบบของกระแสน้ำที่ผิวตามฤดูกาลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในช่วงปี ค.ศ. 2000 – 2019 จากนั้นนำมาหาความสัมพันธ์ระหว่างกระแสน้ำที่ผิวและลมมรสุมในทั้งสองบริเวณ ผลการศึกษาพบว่าในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียบเหนือ กระแสน้ำที่ผิวไหลจากกลางอ่าวไทยไปทางตะวันตกและไหลไปทางใต้ตามแนวชายฝั่ง รูปแบบกระแสน้ำที่ผิวมีการเคลื่อนที่ทวนเข็มนาฬิกา ส่วนบริเวณอันดามันนั้นกระแสน้ำที่ผิวมีการไหลจากทิศใต้ไปทางเหนือ ซึ่งรูปแบบกระแสน้ำที่ผิวมีการเคลื่อนที่ตามเข็มนาฬิกา และในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กระแสน้ำในบริเวณอ่าวไทยมีการไหลเลียบขึ้นทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย และมีรูปแบบการไหลที่ชัดเจนในทิศตามเข็มนาฬิกาและไหลเบนไปทางขวาของอ่าวและไหลออกทางชายฝั่งตะวันออกของอ่าว ส่วนในทะเลอันดามันมีทิศทางการไหลเข้าทางด้านทิศตะวันตกของทะเลกระแสน้ำมีการไหลเลียบลงทางชายฝั่งตะวันออก กระแสน้ำที่ผิวเคลื่อนที่แบบทวนเข็มนาฬิกา เมื่อนำข้อมูลลมในช่วงเวลาเดียวกันมาหาความสัมพันธ์กับกระแสน้ำที่ผิวดังกล่าว พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างกระแสน้ำที่ผิวและลมในพื้นที่ทั้งสองมีค่าค่อนข้างต่ำ หากพิจารณาเฉพาะค่าสหสัมพันธ์สูงสุดที่พบในอ่าวไทยและทะเลอันดามันพบว่ามีค่าประมาณ 1 และ 0.7 ตามลำดับ แต่บริเวณส่วนใหญ่ในพื้นที่ทั้ง 2 นั้นมีค่าสหสัมพันธ์ต่ำหรือค่าใกล้เคียง 0 และมีบางบริเวณที่มีค่าสหสัมพันธ์ใกล้เคียงกับ -1 บริเวณที่พบค่าสหสัมพันธ์มีค่าสูงได้แก่บริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซียฝั่งตะวันออกและชายฝั่งประเทศเวียดนามซึ่งเป็นบริเวณที่พบปรากฎการณ์น้ำผุด/น้ำจม