Abstract:
กากของเสียประเภทมูลสัตว์จากการทำปศุสัตว์ในการผลิตของภาคเกษตรกรรมที่นอกจากจะนำมูลสัตว์ไปใช้ประโยชน์ต่อในลักษณะของปุ๋ยแล้ว มูลสัตว์ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการการผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากมูลวัวนม โดยตัวแปรที่ศึกษาคือ อัตราส่วนของผงถ่านมูลวัวนมต่อผงถ่านจากไม้ไผ่ สัดส่วนปริมาณของตัวประสานที่ส่งผลต่อองค์ประกอบและค่าความร้อนของเชื้อเพลิงแข็ง และความดันที่ใช้ในการอัดถ่านมูลวัวที่ส่งผลต่อค่าความร้อนของเชื้อเพลิงแข็ง ในการทดลองนำถ่านมูลวัวที่ผ่านการคาร์บอไนเซชันมาผสมกับผงถ่านจากไม้ไผ่และใช้สัดส่วนของตัวประสานในอัตราที่กำหนดไว้ หลังจากนั้นนำมาอัดแท่งด้วยกรรมวิธีอัดร้อน จากนั้นนำถ่านมูลวัวนมที่ผ่านการอัดแท่งมาทำการวิเคราะห์องค์ประกอบและหาค่าความร้อนของมูลวัวนม ผลการทดลองพบว่า ค่าความร้อนของมูลวัวนมแห้งอยู่ที่ 10899.57 กิโลจูลต่อกิโลกรัม เมื่ออัตราส่วนผงถ่านจากไม้ไผ่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าความร้อนของถ่านมูลวัวเพิ่มมากขึ้น จาก 12547.02 กิโลจูลต่อกิโลกรัมเป็น 15962.45 กิโลจูลต่อกิโลกรัม เมื่อสัดส่วนของตัวประสานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าความร้อนของถ่านมูลวัวมีค่าลดลงจากเดิมที่ตัวประสานร้อยละ 3 มีค่าความร้อน 15962.45 กิโลจูลต่อกิโลกรัมและที่ตัวประสานร้อยละ 12 มีค่าความร้อน 14669.94 กิโลจูลต่อกิโลกรัมและความดันในการอัดถ่านมูลวัวไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความร้อนที่มีค่าเฉลี่ย 16953.12 กิโลจูลต่อกิโลกรัม สามารถสรุปได้ว่า ถ่านมูลวัวที่สัดส่วนตัวประสานร้อยละ 9 เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับค่าความร้อนและลักษณะทางกายภาพ มีค่าความร้อน 15142.41 กิโลจูลต่อกิโลกรัมและมูลวัวสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงแข็งได้