Abstract:
ในปัจจุบันฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย ในแต่ละเกมส์การแข่งขันจะมีผู้เข้าชมมากตั้งแต่หลักพันคนจนถึงหลายหมื่นคนขึ้นอยู่กับความจุของสนามและทีมที่ลงแข่งขัน จึงทำให้สนามฟุตบอลกลายมาเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีผู้คนเข้ามาชุมนุมกันอย่างหนาแน่น ในการทำโครงงานวิจัยนี้เพื่อประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในสนามฟุตบอล 34 แห่ง ซึ่งผู้วิจัยได้คัดเลือกมาจากทีมที่มีสนามฟุตบอลเป็นของตัวเอง และอยู่ในลีก (League) ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด โดยในงานวิจัยนี้ได้ประเมินภัยพิบัติโดยใช้วิธีการ 2 วิธี คือ การประเมินโดยใช้วิธีกาหนดค่า (DSHA) และการประเมินโดยใช้วิธีความน่าจะเป็น (PSHA) แบบ 2% ในรอบ 50 ปีและ 100 ปี และแบบ 10% ในรอบ 50 ปีและ 100 ปี จากการประเมินโดยทั้งสองวิธีนั้นพบว่าสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทยจะมีค่าความเร่งเชิงพื้นดิน (PGA) ที่สูงกว่าสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในบริเวณภูมิภาคอื่น โดยจากวิธีการกำหนดค่าพบว่าสนามฟุตบอลที่มีค่าความเร่งเชิงพื้นดินที่สูงที่สุดคือสนามฟุตบอลของสโมสรแพร่ ยูไนเต็ด จังหวัดแพร่ มีค่าอยู่ที่ 0.37g และจากวิธีความน่าจะเป็น 2% และ 10% ในรอบ 50 ปี และ 100 ปี ก็ยังคงเป็นสโมสรแพร่ ยูไนเต็ดที่มีค่าความเร่งเชิงพื้นดินสูงที่สุด ได้แก่ 0.49g 0.56g 0.33g และ 0.39g ตามลำดับ ซึ่งจากมาตรฐาน Eurocode 1998 จะพบว่ามีทั้งหมด 3 แห่งที่จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ สนามฟุตบอลของสโมสรแพร่ ยูไนเต็ด จังหวัดแพร่, เชียงราย ยูไนเต็ด จังหวัดเชียงราย และลำปาง เอฟซี จังหวัดลำปาง