Abstract:
ปูม้าเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ได้จากการทำประมงในตำบลพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรปูม้า ชาวบ้านได้จัดตั้งธนาคารปูม้าขึ้นมา การเลือกพื้นที่และฤดูกาลในการปล่อยตัวอ่อนปูม้าที่ ได้จากธนาคารปูม้ามีผลต่ออัตราการรอดชีวิตของลูกปูม้าเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงทำการศึกษาการกระจายตัวของตัวอ่อนปูม้าในบริเวณชายฝั่งตำบลพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยแบบจำลองอุทกพลศาสตร์ (Delft3D-FLOW) ควบคู่กับแบบจำลองคลื่น (Delft3D-WAVE) โดยมีลมเป็นแรงขับที่ผิว จากนั้นนำกระแสน้ำที่ได้จากแบบจำลองดังกล่าว ไปใช้ศึกษาการกระจายของตัวอ่อนปูม้าด้วยแบบจำลอง Delft3D-PART เป็นระยะเวลา 1 ปี เปรียบเทียบ ลักษณะการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนปูม้าในแต่ละเดือน จากการปล่อยตัวอ่อนปูม้าที่ต่างกัน 2 พื้นที่ คือ เกาะเสร็จ และเกาะปราบ ผลการศึกษาพบว่าหากปล่อยตัวอ่อนปูม้าระยะ Zoea (อายุ 0-3 วัน) บริเวณเกาะเสร็จ ในช่วงเดือน พฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และบริเวณเกาะปราบในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมและเดือนตุลาคม ตัวอ่อนปูม้าที่ปล่อยจะมีโอกาสลงเกาะและเจริญเติบโตไปเป็นตัวอ่อนระยะ Megalopa (อายุ 10-15 วัน) สำหรับกรณีอื่น ๆ พบว่าตัวอ่อนเคลื่อนเข้าสู่ฝั่งก่อนถึงเวลาลงเกาะ หรือเคลื่อนออกนอกพื้นที่ศึกษาก่อนถึงเวลาลงเกาะ จึงไม่สามารถคาดคะเนตำแหน่งการลงเกาะได้อย่างแน่ชัด จากการศึกษาพบว่าลมมรสุมมีอิทธิพลอย่างมากต่อทิศทางการเคลื่อน ตัวและพื้นที่ที่มีการลงเกาะของตัวอ่อนปูม้า ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำไปศึกษาต่อยอดและใช้ในการบริหารจัดการการปล่อยปูม้าของธนาคารปูม้าได้