Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายตัวตามแนวตั้งของฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน บริเวณอาคารสูงประเภทสำนักงานและที่พักอาศัย โดยใช้เครื่อง Aeroqual series 500 ที่ตรวจวัดแบบอ่านค่าได้ทันที ทำการตรวจวัดที่ระดับความสูง 4.5 และ 138.5 เมตร ของอาคารสำนักงาน ในช่วงวันที่ 13-27 มกราคม พ.ศ. 2563 สำหรับอาคารที่พักอาศัย ตรวจวัดที่ความสูง 12.8 และ 124.9 เมตร ในช่วงวันที่ 30-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จากการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของฝุ่นภายนอกของอาคารสำนักงานที่ความสูง 4.5 และ 138.5 เมตร มีค่าเท่ากับ 34.49±21.48 และ 30.78±18.64 μg/m³ ตามลำดับ สำหรับอาคารที่พักอาศัยที่ความสูง 12.8 และ 124.9 เมตร มีค่าเท่ากับ 33. 93±14. 57 และ 24. 83±10. 74 μg/m³ ตามลำดับ ค่าเฉลี่ยของฝุ่นภายในอาคารสำนักงานที่ความสูง 4.5 และ 138.5 เมตร มีค่าเท่ากับ 30.36±17. 77 และ 28.62±18.60 μg/m³ ตามลำดับ สำหรับอาคารที่พักอาศัยที่ความสูง 12.8 และ 124.9 เมตร มีค่าเท่ากับ 28.87±10.39 และ 21.96±8.04 μg/m³ ตามลำดับลักษณะการเปลี่ยนแปลงในรอบวันของฝุ่น PM₂.₅ ภายนอกและภายในอาคารมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งแสดงรูปแบบปกติที่อาคารที่พักอาศัย โดยพบความเข้มข้นฝุ่นสูงในช่วงเวลาเช้าและเริ่มลดลงในตอนเที่ยงจากนั้นจึงเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงบ่ายไปจนถึงประมาณ 20.00 น. และลดลงอีกครั้ง และแสดงรูปแบบไม่ปกติที่อาคารสำนักงานโดยความเข้มข้นฝุ่นสูงในช่วงเวลาเช้าไปจนถึงช่วงเย็นและค่อย ๆ ลดลงในเวลากลางคืน ปริมาณฝุ่นภายนอกที่ตรวจวัดได้ทั้งสองอาคารมีความแตกต่างกับภายในอาคารอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% และมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก ค่าเฉลี่ย I/O ratio ของอาคารสำนักงานที่ระดับความสูง 4.5 และ 138.5 เมตร เท่ากับ 0.92 และ 0.93 ตามลำดับ สำหรับอาคารที่พักอาศัยที่ความสูง 12.8 และ 124.9 เมตร มีค่าเฉลี่ย I/O ratio เท่ากับ 0.89 และ 0.92 ตามลำดับ ฝุ่นที่บริเวณชั้นล่างของทั้งสองอาคารมีความแตกต่างกับฝุ่นชั้นบนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% และมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก ความเข้มข้น PM₂.₅ ลดลงเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งบริเวณอาคารสำนักงาน ที่ความสูง 138.5 เมตร PM₂.₅ ลดลง 10% และอาคารที่พักอาศัย ที่ระดับ 124.9 เมตร PM₂.₅ ลดลง 25% ความกดอากาศที่บริเวณอาคารทั้งสองแห่งมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความเข้มข้นฝุ่น ขณะที่ความเร็วลมมีความสัมพันธ์เชิงลบ และอุณหภูมิมีความสัมพันธ์เชิงบวก และลบ บริเวณอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยตามลำดับ ส่วนความชื้นสัมพัทธ์มีความสัมพันธ์เชิงลบกับฝุ่นบริเวณอาคารที่พักอาศัย โดยที่อาคารสำนักงานความชื้นสัมพัทธ์ไม่มีความสัมพันธ์กับความเข้มข้นฝุ่น