Abstract:
เจลาตินเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ มีสมบัติในการย่อยสลายทางชีวภาพและเข้ากันได้ดีกับร่างกาย มีการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยาอย่างแพร่หลาย แต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถสร้างพันธะกับสารประเภทไม่ละลายน้ำได้ งานวิจัยนี้ศึกษาผลของการดัดแปลงโครงสร้างของเจลาตินโดยการเชื่อมพันธะกับคอเลสเตอรอลผ่านปฏิกิริยาทางเคมีของหมู่ไฮดรอกซิลโดยใช้ N,N’-Disuccinimidyl carbonate เป็นสารเชื่อมพันธะ (conjugating agent) ปริมาณอะมิโนอิสระของเจลาตินดัดแปลงถูกใช้ในการประเมินความสำเร็จของการดัดแปลงโครงสร้างของเจลาติน ปริมาณอะมิโนอิสระของเจลาตินดัดแปลงมีค่าลดลงร้อยละ 4 - 31 เมื่อเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในการดัดแปลงจาก 25 – 125 เปอร์เซนต์ของปริมาณหมู่อะมิโนในเจลาติน ความชอบน้ำของเจลาตินที่ทดสอบจากค่ามุมสัมผัสน้ำมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอล เจลาตินดัดแปลงถูกนำมาขึ้นรูปเป็นแผ่น (hydrogel sheet) และเชื่อมโยงพันธะด้วย glutaraldehyde เพื่อนำไปทดสอบความสามารถในการกักเก็บและปลดปล่อยเคอร์คูมินซึ่งมีสมบัติไม่ชอบน้ำ ระดับการเชื่อมโยงพันธะของแผ่นเจลาตินดัดแปลงมีผลต่อปริมาณยาที่บรรจุ, การดูดซับน้ำ, อุณหภูมิในการย่อยสลาย, การย่อยสลายทางชีวภาพ และปริมาณยาที่บรรจุ การปลดปล่อยเคอร์คูมินเป็นไปตามการย่อยสลายของแผ่นเจลาตินดัดแปลง ซึ่งมีอัตราสัมพันธ์กับปริมาณคอเลสเตอรอลที่ใช้ในการดัดแปลง แผ่นเจลาตินที่ดัดแปลงนี้ไม่แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ L929 mouse fibroblast เมื่อนำไปบรรจุเคอร์คูมินปริมาณ 100 mg และ 400 mg แล้วนำไปฝังใต้ผิวหนังบนหลังของหนู BALB-c mice จากการวิเคราะห์ปริมาณเคอร์คูมินในพลาสมาของตัวอย่างที่ก็บวันที่ 3, 6, 10 และ 14 หลังการปลูกถ่ายพบลักษณะการปลดปล่อยของเคอร์คูมินแบบยั่งยืนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน โดยมีระดับเคอร์คูมินในเลือดของสัตว์ทดลองสูงสุดในวันที่ 6 หลังการปลูกถ่าย ผลการทดลองทั้งหมดแสดงถึงความเป็นไปได้ในการใช้เจลาตินดัดแปลงในการควบคุมการนำส่งยาชนิดไม่ละลายน้ำภายในร่างกาย