Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงระยะยาวของปริมาณเมฆในประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1982-2015 โดยใช้ข้อมูลปริมาณเมฆที่ปกคลุมประเทศไทยแบบรายเดือน จากชุดข้อมูล CLARA-A2 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาแบบ Polar orbit AVHRR ความละเอียด 0.05°x0.05° ทำการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงเส้น ของค่าสัดส่วนเมฆปกคลุม (Fractional Cloud Cover, CFC) เป็นรายภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเส้น ระหว่างปริมาณเมฆกับดัชนี Ocean Nino Index (ONI) ซึ่งบ่งชี้การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ผลการศึกษาพบว่าปริมาณเมฆเฉลี่ยรายปีมากที่สุด คือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ตามลำดับ โดยที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นภูมิภาคที่ติดกับทะเล จึงได้รับอิทธิพลโดยตรง นอกจากนี้ ปริมาณเมฆในทุกภูมิภาค มีการผันแปรระหว่างปี และมีความสัมพันธ์แบบตรงกันข้ามกับค่าดัชนี ONI ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ เท่ากับ -0.517, -0.681, -0.738, -0.713 และ -0.800 ตามลำดับ โดยที่ ปีที่มีปริมาณเมฆมากสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ลานีญา และปีที่มีปริมาณเมฆน้อยสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงระยะยาวของปริมาณเมฆในทุกภูมิภาค ไม่มีการแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ