Abstract:
มะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในหลายภูมิภาคของโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งปัญหาที่เกษตรกรผู้เพาะปลูกมะเขือเทศพบคือ โรคเน่าที่มีสาเหตุมาจาก Fusarium solani ผู้วิจัยจึงสนใจเลือกวิธีการทางชีวภาพเพื่อมายับยั้งราดังกล่าวโดยใช้แอนตะโกนิสติกแบคทีเรีย 10 สายพันธุ์ โดยทดลองเลี้ยง F. solani ร่วมกับแบคทีเรีย 10 สายพันธุ์ ผลพบว่าแบคทีเรียทั้ง 10 สายพันธุ์สามารถยับยั้งราดังกล่าวได้ โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งสูงสุดเมื่อยับยั้งด้วยแบคทีเรียสายพันธุ์ M25, M26 และ M27 ซึ่งมีค่าการยับยั้ง 38.97%, 36.15% และ 39.91% ตามลำดับ เมื่อนำน้ำเลี้ยงปราศจากเชื้อมาทดสอบผลการยับยั้ง โดยใช้อัตราส่วนการผสมน้ำเลี้ยงเชื้อปราศจากเซลล์ต่อ PDA ที่แตกต่างกัน ผลคือ แบคทีเรียสายพันธุ์ M26 ที่อัตราส่วน 2:10 มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งรา 39.84% จากการหาภาวะที่เหมาะสมต่อประสิทธิภาพการยับยั้งราโดยการใช้ชนิดของอาหารเลี้ยงเชื้อที่แตกต่างกัน ให้ผลชี้ว่าเมื่อเลี้ยงแบคทีเรียใน Luria-Bertani Broth จะให้เปอร์เซ็นต์การยับยั้งสูงกว่า Nutrient Broth และ Tryptic Soy Broth โดยมีการยับยั้ง 43.96%, 43.00% และ 17.87% สำหรับแบคทีเรีย M25, M26 และ M27 ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังต้องการศึกษาหาภาวะที่เหมาะสมต่อประสิทธิภาพการยับยั้งราต่อไป ทั้งค่า pH ของอาหาร และระยะเวลาในการเลี้ยงแบคทีเรีย รวมถึงระบุชนิดของแบคทีเรีย 3 สายพันธุ์ที่มีความสามารถในการยับยั้ง F. solani ได้โดยใช้วิธีทางชีววิทยาระดับโมเลกุล งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาแบคทีเรียที่สามารถยับยั้ง F. solani ที่ก่อโรคในมะเขือเทศ แล้วนำแบคทีเรียดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการยับยั้งราและโรคด้วยวิธีการทางชีวภาพ เพื่อลดการใช้สารเคมีกำจัดราโรคพืช