Abstract:
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์กันอย่างมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ ประเทศไทยได้มีการประเมินสถานภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบว่าเป็นชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดที่ถูกค้นพบ ทั้งยังมีจำนวนที่สูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย ทั้งยังขาดเครื่องมือในการขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการสัตว์ป่าแก่ประชาชนในวงกว้าง ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) การสร้างเกมและสถานการณ์จำลอง สำหรับเป็นสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายและการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย และ 2) ประเมินประสิทธิภาพของเกมและสถานการณ์จำลองนี้ โดยได้มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยที่ถูกจัดสถานะเป็นชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมาสร้างเกมและสถานการณ์จำลองในลักษณะของเกมการ์ด ชื่อว่า “Wild Villa ในป่ามีสัตว์” ผู้เล่นแต่ละคนมีบทบาทเป็นทั้งผู้อนุรักษ์สัตว์ในพื้นที่ของตนเองและเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากสัตว์ในพื้นที่ของผู้เล่นอื่น จากการนำเกมและสถานการณ์จำลองไปทดสอบประสิทธิภาพกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดน่าน จำนวน 290 คน รวม 13 รอบ (gaming session) และทำการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ผ่านการทำแบบทดสอบความเข้าใจก่อนและหลังการเล่นเกมซึ่งแบ่งเป็น 2 ชุดคำถาม พบว่าผู้เล่นมีพฤติกรรมการเล่นที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในรูปแบบการเล่น รวมทั้งมีการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะมีระยะเวลาในการเล่นเพียง 20 นาที ในด้านประสิทธิภาพของเกมสำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ พบว่าผู้เล่นมีคะแนนหลังการเล่น (4.61±1.60 คะแนนในชุดที่ 1 (n=145) และ 4.65±2.60 คะแนนในชุดที่2 (n=125)) สูงกว่าคะแนนก่อนการเล่น (3.62±1.43 คะแนนในชุดที่ 1 และ 2.88±1.35 คะแนนในชุดที่ 2) อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ (paired t-test, p=0.05) แสดงให้เห็นว่าเกมและสถานการณ์จำลองในรูปแบบการ์ดเกมนี้มีศักยภาพการเป็นสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลาย การอนุรักษ์ และจัดการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งนี้ ควรมีการสร้างเกมและสถานณ์จำลองเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเลเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ของกลุ่มเป้าหมายให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น