Abstract:
กล้วยไม้เป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างมากของประเทศไทย โดยกล้วยไม้ลูกผสมสกุลกุหลาบ ‘บางกอกซันเซท’ เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีสีสันสวยงามและออกดอกตลอดปี จึงนิยมใช้เป็นไม้ตัดดอก แต่ยังคงประสบปัญหาอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้น โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเอทิลีนที่ดอกกล้วยไม้สร้างขึ้น และการขาดอาหารที่เคยได้รับจากต้น ดังนั้น การใช้น้ำยาปักแจกันที่เหมาะสมจึงสามารถช่วยรักษาคุณภาพของดอกกล้วยไม้หลังการเก็บเกี่ยวได้ จากการศึกษาก่อนหน้าพบว่า การใช้ซูโครสร่วมกับสารต้านจุลชีพ 8-hydroxyquinolinesulphate (8-HQS) สามารถยืดอายุการปักแจกันของดอกไม้ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า 1-methyl cyclopropene (1-MCP) มีประสิทธิภาพสูงในการแย่งจับกับตัวรับของเอทิลีน จึงสามารถชะลอการเสื่อมสภาพของดอกไม้ได้ ในการศึกษาครั้งนี้จึงทดลองแช่ช่อดอกกล้วยไม้ลูกผสมสกุลกุหลาบ ‘บางกอกซันเซท’ ในสารละลาย sucrose 4%, 5%, 6%, 8-HQS 150 ppm และ สารละลาย sucrose 4%, 5%, 6% ภายใต้สภาวะที่มี 8-HQS 150 ppm นาน 24 ชั่วโมง พบว่า ไม่มีผลต่ออายุการปักแจกัน แต่ชุดทดลองที่แช่ใน sucrose 5% ภายใต้สภาวะที่มี 8-HQS 150 ppm มีแนวโน้มทำให้ดอกตูมบานเพิ่มขึ้น ลดการเหี่ยวของดอกบาน และรักษาคะแนนคุณภาพของกลีบดอกได้ดีที่สุด การศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการแช่น้ำยาปักแจกัน พบว่า ระยะเวลาที่มีแนวโน้มชะลอการเหี่ยวของดอกบานได้ดีที่สุดคือ 4 และ 12 ชั่วโมง และผลการศึกษาของ 1-MCP ร่วมกับน้ำยาปักแจกัน โดยรมด้วย 1-MCP ความเข้มข้น 5, 10 และ 15 ppm ตามลำดับ และแช่ในน้ำยาปักแจกันที่มี sucrose 5% + 8-HQS 150 ppm ร่วมกับ 1-MCP ความเข้มข้น 5, 10 และ 15 ppm ตามลำดับ เป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมง แม้ว่าจะไม่มีผลต่ออายุการปักแจกัน แต่ 1-MCP ความเข้มข้น 5 ppm ขึ้นไปสามารถชะลอการเหี่ยวของดอกบานได้ จากการบานเพิ่มของดอกตูม คะแนนคุณภาพของกลีบดอก พบว่าชุดทดลอง sucrose 5% + 8-HQS 150 ppm ร่วมกับ 1-MCP ความเข้มข้น 5 ppm มีแนวโน้มรักษาคุณภาพของช่อดอกได้ดีที่สุด