Abstract:
เห็ดนางรมทอง (Pleurotus citrinopileatus) เป็นเห็ดรับประทานได้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างไรก็ตามผลผลิตที่ต่ำและระยะเวลาในการเพาะปลูกที่ยาวนาน ยังคงเป็นหนึ่งในขีดจำกัดของการเพาะเห็ดนางรมทองเพื่อการค้าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงพันธุ์เห็ดนางรมทองให้มีผลผลิตและระยะเวลาในการเพาะปลูกของดอกเห็ดที่ดีขึ้น โดยการใช้วิธีการผสมพันธุ์ระหว่างเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยว (monokaryon) จำนวนทั้งหมด 20 สายพันธุ์ที่ได้มาจากสายพันธุ์พ่อแม่ (ALและBL) ผสมแบบพบกันหมดทุกคู่ โดยจะทำการประเมินลูกผสมผ่านกระบวนการเปรียบเทียบทั้งอัตราการเจริญของเส้นใยและประสิทธิภาพของผลผลิตด้วยค่า biology efficiency (B.E.) ระหว่างสายพันธุ์พ่อแม่ (AL และ BL) กับสายพันธุ์ลูกผสม (C1-C18) ผลจากการคัดเลือกลูกผสมที่ได้ พบว่าสายพันธุ์ AL4xBL1 (C10) ให้อัตราการเจริญของเส้นใยในอาหารเลี้ยง PDA สูงถึง 17.27 ±0.23 มิลลิเมตร/วัน และในวัสดุเพาะขี้เลื่อยที่สูงถึง 7.11 ±0.25 มิลลิเมตร/วัน ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์พ่อแม่ (AL และ BL) อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าลูกผสมสายพันธุ์ AL4xBL1 (C10) ให้ค่าเฉลี่ย biology efficiency (B.E.) ได้ถึง 16.83% ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์ลูกผสม C10 ที่พัฒนาโดยใช้เทคนิคไฮบริไดเซชันนี้สามารถให้สายพันธุ์เห็ดนางรมทองที่มีลักษณะของพันธุ์ที่ดีขึ้น