Abstract:
คางคกบ้าน Duttaphrynus melanostictus มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปเป็นวงกว้าง มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และมีขนาดประชากรใหญ่ จึงทำให้สามารถแพร่กระจาย และเพิ่ม จำนวนได้อย่างรวดเร็ว แต่การศึกษาเกี่ยวกับจุลกายวิภาคและการเจริญของอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธ์ในสัตว์ สะเทินน้ำสะเทินบกกลุ่มคางคกยังมีอยู่จำกัด ในการศึกษาครั้งนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาจุลกายวิภาคของ อวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์และรูปแบบการเจริญเพื่อแยกเพศของคางคกบ้านในระยะสิ้นสุดเมทามอร์โฟซิส โดยการเก็บตัวอย่างลูกอ้อดคางคก จำนวน 30 ตัว จากแหล่งน้ำภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือน ตุลาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2562 เมื่อถึงระยะสิ้นสุดเมทามอร์โฟซิสหลัง การุณฆาตและนำมาตรวจสอบระยะการเจริญทางสัณฐานภายใต้กล้องจุลทรรศน์ใช้แสงแบบสเตอริโอตามระบบของ Gosner (1960) และบันทึกข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ความยาวตั้งแต่ปลายจมูกจนถึงรูทวาร และบันทึกภาพลักษณะ ภายนอกด้วยกล้องถ่ายภาพ รักษาสภาพทั้งตัว นำเนื้อเยื่อมาทำสไลด์ถาวรด้วยวิธี Paraffin Method และ ย้อมด้วยสี Hematoxylin และ Eosin แล้วนำไปศึกษาลักษณะทางจุลกายวิภาคภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบ ใช้แสง ผลการศึกษาพบว่า อวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของ D. melanostictus ทั้งหมดในระยะสิ้นสุดเมทามอร์โฟซิสเป็น indifferent gonad ที่อยู่ในช่วงของการสร้าง genital ridge ลักษณะสำคัญที่พบ ได้แก่ เนื้อเยื่ออวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์มีการแยกออกเป็น 2 ชั้น ได้แก่ เนื้อเยื่อชั้นใน และเนื้อเยื่อชั้นนอก อีกทั้ง ยังสามารถสังเกตเห็น primordial germ cell ปรากฏอยู่บริเวณเนื้อเยื่อชั้นนอก ซึ่งโครงสร้างของอวัยวะ สร้างเซลล์สืบพันธุ์ในระยะดังกล่าว ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อแยกเพศ จึงไม่สามารถระบุได้ว่ารูปแบบ การเจริญเพื่อแยกเพศของคางคกชนิดนี้เป็นรูปแบบใด ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ไม่ได้มีการติดตามการเจริญ ภายหลังระยะดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการยืนยันถึงรูปแบบของการเจริญเพื่อแยกเพศที่แน่ชัดในคางคกบ้าน จึงควรมีการศึกษาอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในระยะหลังสิ้นสุดเมทามอร์โฟซิสในงานวิจัยต่อไป