Abstract:
ข้าวที่มีเปลือกเมล็ดสีม่วงเข้มหรือสีดำนั้นมีสารสีแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารสีที่มีสีม่วงและยังมีการแสดงออกในส่วนอื่นๆ ของข้าว เช่น แผ่นใบ กาบใบ และยอดเกสรเพศเมีย เป็นต้น งานวิจัยนี้จึงศึกษาการสืบทอดลักษณะทางพันธุกรรมของสารสีในใบและเปลือกเมล็ดข้าวในประชากรรุ่น F₃ ของพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งมีเปลือกเมล็ดสีม่วงเข้ม ผสมกับพันธุ์ กข41 ซึ่งมีเปลือกเมล็ดสีขาว โดยบันทึกข้อมูลสีของส่วนต่าง ๆ ได้แก่ แผ่นใบ กาบใบ เขี้ยวกันแมลง ยอดเกสรเพศเมียและเปลือกเมล็ด เมื่อทดสอบด้วยไคสแควร์พบว่าสีของแผ่นใบ กาบใบ และยอดเกสรเพศเมียในประชากรรุ่น F₂ มีการกระจายตัวเป็น homozygous dominant: heterozygous: homozygous recessive ในอัตราส่วน 1: 2: 1 แสดงว่าลักษณะพันธุกรรมถูกควบคุมด้วยยีนเพียง 1 คู่ และมีความสัมพันธ์กันสูงโดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่าง 0.900 – 0.934 สีของเปลือกเมล็ดมีความสัมพันธ์กับเยื่อกันน้ำฝนและเขี้ยวกันแมลงโดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เป็น 0.626 และ 0.616 ตามลำดับ และลักษณะที่ศึกษามีค่าอัตราพันธุกรรมแบบแคบอยู่ในช่วงระหว่าง 73.0% - 92.9% ซึ่งบอกความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมจากรุ่นพ่อแม่ไปยังรุ่นลูกได้ ดังนั้นผลที่ได้สามารถนำไปเป็นตัวช่วยในการคัดเลือกเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีประสิทธิภาพต่อไป