Abstract:
ด้วงสาคูเป็นแมลงศัตรูพืชของพืชจำพวกปาล์ม การบริโภคด้วงสาคูนอกจากจะช่วยลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชแล้ว ด้วงสาคูยังเป็นแหล่งอาหารที่ได้รับความนิยมในการนำมาบริโภคในหลายประเทศในแถบประเทศเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางโภชนาการของด้วงสาคู และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือก จากการวิจัยพบว่าสารอาหารหลักของด้วงสาคูคือไขมันและโปรตีน คิดเป็นร้อยละ 20.65 และ 7.49 ของปริมาณสารอาหารทั้งหมดของส่วนที่บริโภคได้ตามลำดับ โดยกรดไขมันที่พบมากที่สุด คือกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) พบปริมาณร้อยละ 2.076 ของส่วนที่บริโภคได้ สำหรับกรดอะมิโนที่พบได้แก่ กรดอะมิโนที่จำเป็น 8 ชนิดและกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น 8 ชนิด โดยกรดอะมิโน กลูตามิก เป็นกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นที่พบมากที่สุด (101.53 มิลลิกรัมต่อส่วนบริโภคได้ 100 กรัม) และยังเป็นกรดอะมิโนที่ให้รสชาติอูมามิ นอกจากนี้จากการแยกวิเคราะห์ส่วนบริโภคได้ ได้แก่ ส่วนเปลือกและส่วนเนื้อ พบว่าปริมาณไขมันและกรดไขมันมีมากกว่าในส่วนเนื้อ โปรตีนและกรดอะมิโนพบมากในส่วนเปลือก จากการศึกษาการอบแห้งด้วงสาคูเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือก ด้วยวิธีอบแห้ง 3 วิธี ได้แก่ การอบแห้งแบบลมร้อน การอบแห้งแบบสุญญากาศ และการอบแห้งแบบเยือกแข็งสุญญากาศ พบว่าการอบแห้งแบบสุญญากาศที่อุณหภูมิ 80°C เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ใช้เวลาในการอบแห้งสั้นกว่าการอบแห้งแบบเยือกแข็งสุญญากาศ และยังสามารถลดความชื้นได้มากที่สุด โดยลดค่าความชื้นส่วนเปลือกเริ่มต้นร้อยละ 70.21 เป็นร้อยละ 0.27 และส่วนเนื้อจากค่าความชื้นเริ่มต้นร้อยละ 60.64 เป็นร้อยละ 0.20 อีกทั้งยังให้ลักษณะปรากฎที่ดีทั้งในส่วนเปลือกและส่วนเนื้อของด้วงสาคู ซึ่งเหมาะกับการนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ต่อไป ด้วงสาคูถือเป็นแหล่ง อาหารที่มีโภชนาการที่ดีต่อมนุษย์ และงายวิจัยนี้มีแนวคิดที่จะต่อยอดนำด้วงสาคูมาเป็นส่วนประกอบในโปรตีนอัดแท่ง เพื่อเป็นแหล่งอาหารทางเลือกสำหรับการประยุกต์ใช้ในอนาคตต่อไป