Abstract:
การมีรูปร่างผิดปกติ หรือสภาพวิรูป (malformation) มีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์และอาจเกี่ยวข้องกับการลดลงของประชากรสัตว์ สาเหตุที่เป็นไปได้สำหรับการเกิด malformation ในกบคือเกิดจากการติดเชื้อปรสิต Ribeiroia ondatrae ที่บริเวณ limb bud ของลูกอ๊อด ซึ่งเป็นบริเวณที่จะเจริญเป็นรยางค์ต่อไป ในปี พ.ศ. 2562 มีรายงานการพบ malformation ในกบนา Hoplobatrachus rugulosus ในบ่อเลี้ยงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยพบกบมี 5-7 ขา มีลักษณะเป็นการเพิ่มจำนวนขึ้นทั้งเป็นตุ่มกระดูกหรือเป็นขาที่เกือบสมบูรณ์ จึงได้นำมาศึกษาในงานวิจัยนี้โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาลักษณะทางกายวิภาคและสัณฐานภายนอกของกบนาที่พบสภาพวิรูปของรยางค์ และ 2) ตรวจสอบร่องรอย metacercaria cyst เพื่อคาดการณ์สาเหตุการเกิดสภาพวิรูปของรยางค์ของกบนาในบ่อเลี้ยงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยนำกบนาจำนวน 84 ตัว มาศึกษาลักษณะทางสัณฐานจากการเก็บข้อมูลความยาว snout ถึง vent (SVL) และความยาวของขาที่ผิดปกติ ก่อนนำมาศึกษากายวิภาคโดยเปรียบเทียบจากภาพ x-ray และดองใส พร้อมทั้งจัดจำแนกลักษณะ malformation ของกระดูกรยางค์ที่พบพร้อมทั้งบันทึกเป็นภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ (scientific illustration) และตรวจสอบหา metacercaria cyst จากการผ่าในบริเวณกล้ามเนื้อส่วนโคนขา ส่วนที่หางหดตัว และอวัยวะภายในต่าง ๆ ผลการศึกษาพบว่ากบนาอายุประมาณ 2 เดือน มีค่า SVL อยู่ที่ 4.79 ถึง 8.14 cm ส่วนกบนาอายุประมาณ 9 เดือน มีค่า SVL อยู่ที่ 8.58 ถึง 12.43 cm พบความผิดปกติที่ขาหลังทั้งหมดเป็นจำนวน 1-3 ขา ซึ่งจำนวนขาหลังที่พบมากที่สุดคือ 3, 4, 2 และ 5 ตามลำดับ โดยสามารถจัดจำแนกระดับความรุนแรงได้ 9 ระดับ จำแนกลักษณะสภาพวิรูปที่พบได้เป็น 16 ลักษณะ และไม่พบ metacercaria cyst ในบริเวณที่ตรวจสอบ ทั้งจากวิธีการดองใส และการผ่า ผลจากงานวิจัยนี้สามารถนำไปจัด จำแนกลักษณะกบนาออกเป็นระดับความรุนแรงเพื่อประเมินสภาพความรุนแรงในพื้นที่ นอกจากนี้สามารถนำ protocol การดองใสใช้เพื่อตรวจสอบ metacercaria cyst ได้ ทำให้สามารถคาดการณ์สาเหตุการเกิดสภาพวิรูป ของรยางค์ของกบนาได้ และเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลสภาพการเพาะเลี้ยงที่ผ่านมาจะช่วยให้เข้าใจสาเหตุและนำไปป้องกันปัญหาการเกิดสภาพวิรูปในกบนาทั้งในบ่อเลี้ยงและในธรรมชาติ