Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาการสกัดโปรตีนเข้มข้น (Leaf protein concentrate) จากใบผักบุ้งไทย (Ipomoea aquatica Forssk.) และกระถิน (Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit) ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านที่พบได้มากในประเทศไทย สำหรับเป็นแนวทางในการใช้เป็นแหล่งโปรตีนเสริมในอาหารคนหรืออาหารสัตว์โดยได้ทำการสกัดโปรตีนจากใบพืชทั้ง 2 ชนิดด้วยวิธี Acid-base extraction ที่สภาวะการสกัดที่ ความเป็นกรด-ด่างต่าง ๆ ได้แก่ 6, 7, 8 และ 9 แล้วตรวจวัดปริมาณโปรตีนที่สกัดได้ด้วยวิธีของ Lowry จากการทดลองพบว่าปริมาณโปรตีนที่ได้จากการสกัดจากใบผักบุ้งที่ความเป็นกรด-ด่าง 6 ให้ปริมาณโปรตีนมากที่สุด (0.72±0.01 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง) ในขณะที่ความเป็นกรด-ด่าง 9 ให้ปริมาณโปรตีนน้อยที่สุด (0.42±0.01 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง) และเมื่อสกัดโปรตีนเข้มข้นจากใบกระถินพบว่าที่ความเป็นกรด-ด่าง 9 ให้ปริมาณโปรตีนมากที่สุด (0.21±0.01 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง) ในขณะที่ความเป็นกรด-ด่าง 6 และ 7 ให้ปริมาณโปรตีนน้อยที่สุด (0.12±0.00 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง) และ (0.12±0.00 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง) ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิ และความเป็นกรด-ด่างของการตกตะกอนโปรตีนของใบพืชผักบุ้งไทย และกระถิน พบว่าเมื่อเพิ่มอุณหภูมิจาก 80 เป็น 85 องศาเซลเซียส ที่ความเป็นกรด-ด่าง 3 และ 4 ของใบพืชผักบุ้งไทย มีการตกตะกอนโปรตีนเพิ่มขึ้นจาก 0.14±0.03 เป็น 0.19±0.04 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง และ 0.08±0.01 เป็น 0.19±0.06 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ในขณะเดียวกันที่ความเป็นกรด-ด่าง 4 และ 5 ของใบพืชกระถิน มีการตกตะกอนโปรตีนเพิ่มขึ้นจาก 0.03±0.01 เป็น 0.11±0.04 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง และ 0.06±0.02 เป็น 0.08±0.03 กรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ