Abstract:
ความหลากหลายของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ ในประเทศไทยมีการศึกษาความหลากหลายของสัตว์กลุ่มนี้เป็นจำนวนมากโดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นศึกษาในระยะตัวเต็มวัยเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ลูกอ๊อดหรือระยะตัวอ่อนของสัตว์ในกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อชุมชนสัตว์น้ำเช่นเดียวกัน โดยในบางชนิดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งและบางชนิดอาศัยอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล แต่กระนั้นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหลายชนิดยังคงมีข้อมูลของลูกอ๊อดอยู่น้อยมาก ด้วยลักษณะของสัณฐานวิทยาที่มีความแตกต่างกันไม่มากนักจึงทำให้ลูกอ๊อดยากต่อการนำมาระบุชนิด อย่างไรก็ตามเรายังคงสามารถใช้ดีเอ็นเอบาร์โค้ดในการตรวจสอบชนิดได้ โดยหลังจากที่ระบุชนิดด้วยวิธีการอณูชีววิทยายังสามารถดำเนินการตรวจสอบแหล่งที่อยู่อาศัยต่อไปได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อตรวจสอบความหลากชนิดของลูกอ๊อดด้วยวิธีการทางดีเอ็นเอบาร์โค้ดและตรวจสอบแหล่งที่อยู่ของลูกอ๊อด โดยดำเนินการสำรวจภาคสนามในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ลูกอ๊อดถูกเก็บจาก 2 ระบบนิเวศ ประกอบด้วย พื้นที่น้ำนิ่งและพื้นที่น้ำไหล พร้อมกับการสำรวจลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัยของลูกอ๊อดร่วมด้วย ยีน 16S mtDNA ถูกนำมาใช้เป็นดีเอ็นเอบาร์โค้ด จากนั้นจึงนำลำดับดีเอ็นเอของลูกอ๊อดมาเปรียบเทียบกับลำดับ ดีเอ็นเอของตัวเต็มวัยที่นำมาจาก GenBank ด้วยวิธีการ BLAST ก่อนนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการด้วยวิธีการ Maximum Likelihood ผลของการศึกษาพบลูกอ๊อดทั้งหมด 7 ชนิดประกอบด้วย Microhyla heymonsi, Microhyla mukhlersuri, Microhyla berdmorei, Sylvirana nigrovittata, Hoplobatrachus rugulosus, Fejervarya limnocharis และ Phrynoglossus martensii การสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยยังเผยให้เห็นว่า Fejervarya limnocharis และ Hoplobatrachus rugulosus อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ Microhyla berdmorei และ Sylvirana nigrovittata อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลเพียงอย่างเดียว จากผลของการศึกษาทั้งหมดสามารถแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาชีววิทยาของลูกอ๊อดและสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก