Abstract:
การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยอาศัยจุลินทรีย์วิธีการหนึ่งคือ การนำแบคทีเรียที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช (PGPB) และมีคุณสมบัติสนับสนุนการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยระหว่างราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซากับพืช (MHB) มาผสมรวมกับหัวเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรากับพืช ส่งผลให้พืชมีการเจริญเติบโตและทนต่อสภาวะที่ไม่เหมาะสมได้ดีขึ้น การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นการคัดเลือกแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติดังกล่าว โดยแยกแบคทีเรียจากสปอร์ราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาแบบ glomoid ที่พบในดินไร่อ้อยจำนวน 3 แปลง ในจังหวัดนครปฐม โดยสามารถแยกแบคทีเรียได้จำนวน 38 ไอโซเลท และได้ทำการทดสอบลักษณะการเป็น PGPB ได้แก่ การสร้างฮอร์โมนพืชในกลุ่มออกซิน (indole-3-acetic acid: IAA) การสร้างแอมโมเนียม การสร้างสารในกลุ่ม siderophore การละลายฟอสเฟต และการสร้างไบโอฟิล์ม พบว่าแบคทีเรียแต่ละไอโซเลทมีลักษณะของการเป็น PGPB ที่แตกต่างกัน โดยแบคทีเรียที่มีลักษณะการเป็น PGPB อย่างน้อย 4 ลักษณะ มีจำนวน 14 ไอโซเลท (36.84 เปอร์เซ็นต์ของแบคทีเรียทั้งหมดที่แยกได้) แบคทีเรียที่สามารถสร้าง IAA มีปริมาณสูงที่สุดคือไอโซเลท NP204 ที่ปริมาณ 51.44±1.75 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร แบคทีเรียที่สามารถสร้างแอมโมเนียได้ความเข้มข้นสูงที่สุดคือไอโซเลท NP312 ที่ความเข้มข้น 105.76±5.98 ไมโครโมลต่อมิลลิลิตร แบคทีเรียที่สามารถสร้างสารกรดซาลิซิลิคซึ่งเป็นสารในกลุ่ม siderophore ได้สูงที่สุดคือไอโซเลท NP115 ที่ความเข้มข้น 228.82±3.12 ไมโครโมลต่อมิลลิลิตร แบคทีเรียที่มีค่าของดัชนีการละลายฟอสเฟตสูงที่สุดคือไอโซเลท NP312 ที่ค่า 3.20±0.12 และแบคทีเรียที่สามารถสร้างไบโอฟิลม์มีจำนวน 7 ไอโซเลท ได้แก่ NP107, NP109, NP112, NP303, NP305, NP309 และ NP312 และเมื่อนำแบคทีเรียที่เป็น PGPB มาทดสอบลักษณะการเป็น MHB โดยสังเกตจากความสามารถในการกระตุ้นการงอกของสปอร์ราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา พบว่าภายในเวลา 7 วัน มีเพียงแบคทีเรียไอโซเลท NP204 และ NP312 ที่สามารถกระตุ้นการงอกสปอร์ราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาที่มาจากแปลงไร่อ้อยได้ทั้ง 3 แปลง และให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูงที่สุด โดยที่ไอโซเลท NP204 เป็นแบคทีเรียแกรมบวกและ NP312 เป็นแบคทีเรียแกรมลบ จากผลการศึกษานี้จึงสามารถคัดเลือกแบคทีเรียที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์แบบไมคอร์ไรซาในดินไร่อ้อยได้ 2 ไอโซเลท นั่นคือ NP204 และ NP312 ซึ่งเหมาะต่อการนำไปพัฒนาเป็นหัวเชื้อชีวภาพทางการเกษตรต่อไป