Abstract:
Saccharomyces cerevisiae เป็นยีสต์ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีความสามารถในการผลิตเอทานอลและผลิตสารประกอบประเภทไขมันที่มีมูลค่าทางการตลาด โครงงานนี้มีจุดประสงค์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไขมันของยีสต์ S. cerevisiae สายพันธุ์ TPD2 โดยการเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายแบบสุ่มด้วยวิธีการฉายรังสีอัลตราไวโอเลต และคัดเลือกยีสต์สายพันธุ์กลายด้วย cerulenin ผลการทดลองเมื่อฉายรังสีเป็นระยะเวลา 9 - 25 นาที พบยีสต์ที่มีอัตรารอดน้อยกว่าร้อยละ 5 จำนวน 109 ไอโซเลท จากนั้นคัดเลือกยีสต์สายพันธุ์กลายโดยนำมาเลี้ยงบนอาหารแข็ง yeast-extract-peptone ผสม cerulenin และทำการคัดเลือกยีสต์ที่เจริญบนอาหารดังกล่าวแบบสุ่ม เพื่อนำมาทดสอบต่อไป จากผลการทดลองสามารถคัดแยก S. cerevisiae สายพันธุ์ TPD2 สายพันธุ์กลายได้ 1 ไอโซเลท คือ S. cerevisiae สายพันธุ์กลาย CE9.5 โดยมีร้อยละปริมาณน้ำมันต่อน้ำหนักเซลล์แห้ง (ร้อยละ 9.37 ± 0.19) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25 อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม (ร้อยละ 11.62 ± 1.23) จากผลการวิเคราะห์ชนิดกรดไขมัน พบว่ายีสต์ S. cerevisiae สายพันธุ์กลาย CE9.5 มีการสร้างกรดไขมันชนิดโอเลอิก (C18:1), กรดปาล์มิโตเลอิก (C16:1), กรดปาล์มิติก (C16:0) และกรดสเตียริก (C18:0) เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้พบกรดไขมันชนิดไมริสติก (C14:0) ด้วย (ร้อยละ 0.51 ± 0.02) เมื่อทำการวิเคราะห์ลำดับเบสในยีน acetyl-CoA carboxylase (ACC1) ซึ่งเป็นยีนที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์กรดไขมัน พบว่า S. cerevisiae สายพันธุ์กลาย CE9.5 มีการเปลี่ยนแปลงแทนที่เบส 2 ตำแหน่งคือ G3477T และ G3484T