Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์กลวิธีการดัดแปลงในบทละครเรื่อง วาสันติกสวัปนะของ R. Kṛṣṇamācārya และเปรียบเทียบกับ A Midsummer Night's Dream ของ Shakespeare โดยเฉพาะองก์ที่ 1 และองก์ที่ 2 วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการศึกษาวิเคราะห์กลวิธีการดัดแปลงให้เป็นละครสันสกฤต โดยใช้ตำรานาฏยศาสตร์เป็นหลักในการศึกษา ส่วนที่สองคือการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อแสดงความเหมือนและความต่าง ผลการศึกษาพบว่า R.Krsnamacarya ได้ดัดแปลงบทละครเรื่อง A Midsummer Night’s Dream ให้เป็นบทละครสันสกฤตตามตำรานาฏยศาสตร์อย่างสมบูรณ์ คือ เป็นละครประเภทประกรณะ มีจำนวน 5 องก์ ครบถ้วนด้วยองค์ประกอบของละครสันสกฤต ได้แก่ บทนานที บทปรัสตาวนา บทประเวศกะ บทวิษกัมภกะ และบทภรตวากยะ ตัวละครใช้ภาษาตามสถานะของตน ฉันทลักษณ์ที่ปรากฎประกอบด้วยบทร้อยกรองและบทร้อยแก้วที่เปิดเผยให้เห็นความประณีตงดงามและความมีพลังของภาษาสันสกฤตสอดคล้องกับทฤษฎีอลังการ ทฤษฎีภาวะ ทฤษฎีรส ทฤษฎีกาวยคุณ และทฤษฎีวฤตติ ในการศึกษาเปรียบเทียบบทละครทั้ง 2 เรื่อง มีวิธีการดัดแปลงให้เป็นบทละครสันสกฤต 2 วิธีหลัก คือ การแปลตรงตามตัวบทและการแปลแบบอิสระ ซึ่งวิธีที่ 2 จำแนกได้ 3 วิธีได้แก่ การขยายความ การแปลง-ปรับรายละเอียด และการตัดทอน วิธีการทั้งหมดนี้สอดคล้องกับการดัดแปลงตามทฤษฎีการแปลของ Peter Newmark และข้อเสนอการแปลการอ้างถึงชื่อเฉพาะของ Ritva Leppihalme บางส่วนด้วย บทละครเรื่อง วาสันติหสวัปนะ จึงนับเป็นบทละครที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ทั้งในสถานะบทละครสันสกฤตและบทละครดัดแปลง