Abstract:
โครงการการเรียนการสอนเพื่อเสริมประสบการณ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการผลิตและพัฒนากระดาษจากเยื่อเปลือกส้มโอ โดยใช้กระบวนการต้มเยื่อแบบโซดา ซึ่งใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium Hydroxide, NaOH) เป็นสารเคมีในการต้มเยื่อ ในการทดลองนี้ได้ใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ความเข้มข้นต่างกันสองระดับ ได้แก่ร้อยละ 10 และ 20 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง ที่ระยะเวลาในการต้ม 1 ชั่วโมง อุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียสสำหรับเยื่อที่ต้มด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ร้อยละ 20 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง และที่ระยะเวลาในการต้ม 2 ชั่วโมง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส สำหรับเยื่อที่ต้มด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ร้อยละ 10 และ 20 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง จากนั้นนำเยื่อที่เตรียมได้มาหาค่าสภาพระบายได้ (Freeness) และคำนวณปริมาณผลผลิตที่ได้ (%Yield) นำเยื่อไปวัดลักษณะสัณฐานวิทยาของเส้นใยด้วยเครื่องวิเคราะห์เส้นใย (Fiber Quality Analyzer, FQA) เพื่อหาความแตกต่างของเส้นใยที่ต้มด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่สภาวะแตกต่างกัน จากนั้นนำเยื่อมาขึ้นแผ่นทดสอบ (แผ่นกระดาษ) และนำแผ่นทดสอบที่ได้ไปทดสอบทางกายภาพของกระดาษ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของกระดาษที่ผลิตจากเยื่อเปลือกส้มโอที่สภาวะต่างกัน ผลการศึกษาหาภาวะที่เหมาะสมในการผลิตเยื่อพบว่า เยื่อที่นำมาต้มด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ร้อยละ 20 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เวลา 2 ชั่วโมง เมื่อนำมาขึ้นแผ่นจะได้กระดาษที่มีความแข็งแรงต่อแรงดึง ความแข็งแรงต่อแรงดันทะลุ และความต้านทานแรงฉีกมากที่สุด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเยื่อมีสัณฐานวิทยาของเส้นใยที่ดีกว่าการต้มเยื่อด้วยสภาวะอื่น ๆ จากผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่าการต้มเยื่อจากเปลือกส้มโอโดยใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ร้อยละ 20 ของน้ำหนักเยื่อแห้ง ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เวลา 2 ชั่วโมง เป็นสภาวะการต้มเยื่อที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทดลองนี้