Abstract:
การศึกษาการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: กรณีศึกษาพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีต่อกระบวนการการผลักดันนโยบายสาธารณะ ทั้งกลุ่มที่มีบทบาทในการสนับสนุนและคัดค้าน ในการออกพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีสมมติฐานว่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีมูลค่าสูง แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมในระดับสูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะใดๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ย่อมก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆจำนวนมากในระดับรุนแรงอย่างเป็นวงกว้าง เพื่อให้สามารถจัดสรรผลประโยชน์แก่กลุ่มของตนได้สูงสุด การศึกษาครั้งนี้เป็นลักษณะการวิจัยเชิงคุณภาพ นำเสนอแบบแผนพฤติกรรมของกลุ่มต่างๆในตลาดการเมือง วิเคราะห์พฤติกรรมและการนำเสนอประเด็นความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่วาระทางนโยบายของสถาบันการเมือง ผ่านทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ ทฤษฎีนโยบายสาธารณะและทฤษฎีวาระทางนโยบายของคอปป์และเอลเดอร์ ผลการศึกษาพบว่ากระบวนการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีประเด็นสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ 1) มีนัยยะของการปะทะระหว่างกลุ่มที่มีเป้าหมายผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพกับกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ 2) เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติและการนำไปบังคับใช้ และ 3) มีผลต่อเนื่องไปยังกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆในอนาคต โดยความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่มนั้น ไม่สามารถประนีประนอมด้วยกันได้ จึงทำให้เกิด“ความเห็นต่าง”ปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งพบว่ามิติทางสังคมสาธารณสุข เศรษฐกิจ พาณิชย์ ระบบการเงิน การคลัง ฯลฯ มีความเกี่ยวพันกันจนไม่สามารถใช้มุมมองเพียงมิติเดียว ในการผลักดันนโยบายสาธารณะเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้