Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาบทบาทของสาหร่ายช่อพริกไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสารประกอบอนินทรีย์ไนโตรเจนในถังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรูปแบบต่างๆ โดยทดลองเลี้ยงสาหร่ายช่อพริกไทยในชุดการทดลองที่ไม่มีชั้นดินและมีชั้นดินสูงจากก้นถัง 5 ซม. และน้ำทะเล 30 พีพีที ปริมาตร 25 ลิตร ที่มีการเติมอาหารปลานิลบดปริมาณ 0.23 กรัม เพื่อเป็นแหล่งสารอินทรีย์ตลอดการทดลอง 61 วัน ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำพบว่าถังชุดควบคุมที่ไม่มีสาหร่าย ไม่มีดิน สภาวะกลางแจ้ง และถังชุดควบคุมที่ไม่มีสาหร่าย ไม่มีดิน สภาวะแสงน้อยจะเกิดการย่อยสลายอาหารปลานิลและได้ผลผลิตเป็นแอมโมเนีย โดยพบการสะสมของแอมโมเนียในน้ำในวันที่ 8 จากนั้นพบการลดลงของไนไทรต์หลังวันที่ 40 โดยผ่านกระบวนการไนตริฟิเคชันทำให้มีไนเทรตสะสม ส่วนถังที่มีสาหร่ายและสภาวะกลางแจ้งผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าแสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายช่อพริกไทย และทำให้สาหร่ายช่อพริกไทยมีบทบาทสำคัญควบคุมคุณภาพน้ำโดยการนำเข้าสู่เซลล์มากกว่าถังที่อยู่ในสภาวะแสงน้อย สำหรับถังที่มีชั้นดินพบไนเทรตสะสมตลอดการทดลองเนื่องจากมีกระบวนการไนตริฟิเคชันและดีไนตริฟิเคชันในชั้นดิน แสดงให้เห็นว่าในถังที่มีดินแบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะมีบทบาทในการควบคุมคุณภาพน้ำ สำหรับการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวร่วมกับสาหร่ายช่อพริกไทยและประเมินประสิทธิภาพในการควบคุมคุณภาพน้ำ พบว่าในชุดควบคุมที่ไม่มีสาหร่าย ไม่มีดิน สภาวะกลางแจ้ง พบว่ายังมีไนโตรเจนที่ไม่สามารถระบุได้ถึงร้อยละ 44 และสภาวะแสงน้อยมีไนโตรเจนสะสมในน้ำถึงร้อยละ 52 ส่วนในถังมีสาหร่ายและสภาวะกลางแจ้ง พบว่าสาหร่ายช่อพริกไทยสามารถกำจัดไนโตรเจนออกจากระบบเลี้ยงปลากะพงขาวได้เพียงร้อยละ 3 โดยระบบไม่สามารถรองรับการสะสมของไนโตรเจนได้ แม้ว่าแสงจะมีผล ทำให้สาหร่ายช่อพริกไทยมีบทบาทสำคัญในการบำบัดคุณภาพน้ำ ส่วนในถังที่มีสาหร่าย มีดิน สภาวะกลางแจ้ง พบว่าสาหร่ายสามารถกำจัดไนโตรเจนได้เพียงร้อยละ 7 แต่เนื่องจากมีชั้นดินทำให้มีปริมาณแอมโมเนีย ไนไทรต์ ไนเทรต และฟอสเฟตต่ำ สำหรับถังที่มีชั้นดินพบว่ามีการกำจัดไนโตรเจนกระบวนการไนตริฟิเคชันและดีไนตริฟิเคชัน แสดงให้เห็นว่าการที่มีชั้นดินแบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสารอนินทรีย์ไนโตรเจนในน้ำ