Abstract:
งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสม (อุณหภูมิและชนิดกรดอินทรีย์) ในการสกัดแอนโทไซยานินและเพกทินจากกระเจี๊ยบศึกษาผลของไคโตซานต่อประสิทธิภาพในการเอนแคปซูเลทสารสกัดแอนโทไซยานินโดยการเติมไคโตซาน 0.025% และ 0.05% (v/v) รวมถึงศึกษาสมบัติทางกายภาพและเคมีของเพกทินที่ได้จากการสกัดในสภาวะต่าง ๆ โดยใช้ตัวทำละลาย เอทานอล:น้ำ อัตราส่วน 1:1 (v/v) ปรับค่า pH เป็น 2.5 ด้วยกรดอินทรีย์ 3 ชนิด (กรดซิตริก กรดแลกติก และกรดมาลิก) ที่อัตราส่วน 1:2 (w/v) ของกระเจี๊ยบแดงต่อตัวทำละลาย และวิเคราะห์หาปริมาณ Anthocyanin content (ATC) ของสารสกัดที่อุณหภูมิแตกต่างกัน (50, 75 และ 90 °C) โดยวิธี pH-differential method พบว่าที่อุณหภูมิ 50 °C การสกัดด้วยตัวทำละลายที่ปรับ pH ด้วยกรดซิตริก กรดแลกติก และกรดมาลิก มีปริมาณ ATC สูงที่สุด (37.74 ± 0.41, 36.86 ± 0.86 และ 37.80 ± 0.59mg/100ml) จากนั้นนำสารสกัดมาตกตะกอนเพกทินและนำไปทำแห้งแบบแช่เยือกเเข็ง และวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพและเคมีของเพกทิน พบว่าค่าสี มีค่าความสว่าง (L*) อยู่ในช่วง 59.53 ถึง 65.06, สีแดง (a*) อยู่ในช่วง 14.91 ถึง 22.47 และสีเหลือง (b*) อยู่ในช่วง 1.58 ถึง 12.35 และที่อุณหภูมิ 90 °C การสกัดด้วยตัวทำละลายที่ปรับ pH ด้วยกรดซิตริกและกรดมาลิก ได้ %yield (7.10 ± 0.11% และ 6.92 ± 0.23%) สูงกว่าตัวทำละลายที่ปรับ pH ด้วยกรดแลกติก (6.72 ± 0.16%) อย่างมีนัยสำคัญ (p≤0.05) จากการวิเคราะห์สารที่สกัดในสภาวะต่างๆ พบว่าปริมาณ Methoxyl content (%MeO) มีค่าอยู่ระหว่าง 2.81 ± 0.15% ถึง 3.78 ± 0.07% และ Anhydrouronic acid content (%AUA) มีค่าอยู่ระหว่าง 53.12 ± 0.49% ถึง 60.45 ± 0.85% ส่วน Degree of Esterification (%DE) มีค่าอยู่ระหว่าง 30.24 ± 0.06% ถึง 36.21 ± 0.51% ซึ่งจัดอยู่ในเพกทินชนิดที่มีปริมาณหมู่เมทอกซิลต่ำ โดยที่อุณหภูมิ 90 °C การสกัดด้วยตัวทำละลายที่ปรับ pH ด้วยกรดอินทรีย์ทั้ง 3 ชนิด แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการเอนแคปซูเลทแอนโทไซยานินสูงสุด 52.48% ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p≤0.05) โดยอุณหภูมิที่ใช้สกัดมีผลต่อร้อยละผลผลิต เพกทินและการเอนแคปซูเลทมากกว่าชนิดกรด อย่างไรก็ตามการเติมสารไคโตซานซึ่งเป็นไบโอพอลิเมอร์ลงในสารสกัดจากกระเจี๊ยบในความเข้มข้นข้างต้นไม่พบว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเอนแคปซูเลทแอนโทไซยานินร่วมกับเพกทิน