Abstract:
กล้วยไม้เป็นหนึ่งในพืชสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่มีสีสันสวยงาม ให้ดอกนาน และบางสายพันธุ์มีกลิ่นหอม ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาการส่งออกกล้วยไม้ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขคือ ผลผลิตไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากการระบาดของหอยทากศัตรูพืช ไส้เดือนฝอยคือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมีรูปร่างคล้ายหนอน ลำตัวไม่มีปล้อง ดำรงชีวิตแบบอิสระได้ทั้งในดิน และแหล่งน้ำ ทั้งยังพบในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น พืช และ สัตว์ ไส้เดือนฝอยมีประมาณ 23,000 สปีชีส์ บางสปีชีส์สามารถนำมาใช้เป็นตัวควบคุมการระบาดของหอยทากศัตรูพืชได้ เป็นหนึ่งทางเลือกแทนการพึ่งพาสารเคมี ในห้องปฏิบัติการของ อาจารย์ ดร.เกรียง กาญจนวตี มีไส้เดือนฝอยที่ผ่านการทดสอบความสามารถในการก่อโรคต่อหอยทากศัตรูพืชที่พบในสวนกล้วยไม้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคือไส้เดือนฝอย monoculture ที่ผ่านการแยกโดยการนำตัวเมียที่มีไข่ 1 ตัว ออกจากไส้เดือนฝอยที่แยกได้จากหอยทากที่ตาย (isolate) ทั้งหมด 17 สายพันธุ์ ได้แก่ 10B7, 10B2, 20B1, 12B8, 26A1, 17C1, 10C7, 10C8, 10C2, 10A12, 20A1, 16A1, 10A1, 16C5, 17B1, 10A3 และ 22A1 แต่ไส้เดือนฝอยดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการระบุชนิด ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการระบุชนิดของไส้เดือนฝอยดังกล่าวโดยใช้วิธีทางชีววิทยาโมเลกุลมาเป็นตัวบ่งชี้ความแตกต่างของไส้เดือนฝอยจากลำดับเบสบนยีนไรโบโซมหน่วยย่อยขนาดเล็ก (SSU หรือ 18S rRNA) ดังต่อไปนี้ 1) เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วยคู่ไพรเมอร์ที่มีความจำเพาะต่อดีเอ็นเอของไส้เดือนฝอย คือ SSU18A (5'-AAAGATTAAAGCCATGCATG-3') และ SSU26R (5'-CATTCTTGGCAAATGCTTTCG-3') 2) ตรวจสอบดีเอ็นเอโดยวิธี agarose gel electrophoresis 3) ทำผลิตภัณฑ์พีซีอาร์ให้บริสุทธิ์โดยใช้ MiniElute® PCR Purification Kit (QIAGEN) 4) ส่งวิเคราะห์เพื่อหาลำดับ นิวคลีโอไทด์ โดยวิธี Sanger sequencing method 5) ตรวจสอบและเปรียบเทียบกับข้อมูลใน Genbank nucleotide BLAST tool และ 6) สร้างแผนภูมิต้นไม้ (phylogenetic tree) โดยจัดกลุ่มด้วยวิธี neighbor-joining พบว่าไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ 10A1, 10B7, 10C7, 12B8, 17B1, 17C1, 20A1, 20B1 และ 22A1 คือ Acrobeloides sp., สายพันธุ์ 10A3, 10A12, 10B2, 10C2 และ 10C8 คือ Cephalobus cubaensis, สายพันธุ์ 16A1 และ 16C5 คือ Panagrolaimus sp. และสายพันธุ์ 26A1 ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ในสกุล Acrobeloides sp. หรือ Cephalobus sp. ซึ่งควรมีการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาเพิ่มเติมในภายหลัง โดยจากงานวิจัยก่อนหน้าพบว่ามีความสอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ เนื่องจากพบว่า Acrobeloides sp. Cephalobus cubaensis และ Panagrolaimus sp. มีความสามารถในการก่อโรคในหอยทากศัตรูพืช