Abstract:
สารกรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นส่วนผสมที่สำคัญในผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่ใช้ปกป้องผิวจากรังสี UV เช่น ครีมกันแดด เครื่องสำอาง ปัจจุบันมีรายงานการตรวจพบสารกรองรังสี UV หลายชนิดปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาร benzophenone-3 (BP-3) ซึ่งเป็นสารกรองรังสี UV ที่พบปนเปื้อนในแม่น้ำ ทะเลสาบ และทะเล โดยการปนเปื้อน BP-3 อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำในฟาร์มที่มีการผันน้ำธรรมชาติมาใช้ในการเพาะเลี้ยง ในงานวิจัยนี้ได้เลือกใช้ กุ้งขาว Litopenaeus vannamei ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลกเป็นตัวแทนของสัตว์น้ำในฟาร์ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพิษเฉียบพลันของสาร benzophenone-3 ต่อกุ้งขาว โดยนำกุ้งขาวจากกษิดิ์ ฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา มาเลี้ยงปรับสภาพในน้ำทะเลธรรมชาติที่ระดับความเค็ม 25 ppt ณ สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิต เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ก่อนนำกุ้งขาวระยะ postlarvae (PL) 26-28 มาทดสอบด้วยวิธี static bioassay ในห้องปฏิบัติการ 2 ขั้นตอน คือ การทดสอบเพื่อหาช่วงความเข้มข้นในช่วงกว้าง (range finding test) โดยใช้ BP-3 ความเข้มข้น 0, 0.1, 1, 10 mg/L และการทดสอบเพื่อหาความเข้มข้นขั้นสุดท้าย (definitive test) โดยใช้ BP-3 ความเข้มข้น 0, 1, 1.5, 2, 2.5 mg/L บันทึกการตายของกุ้งขาวและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิน้ำ ค่า pH และค่าไนไตรท์ วิเคราะห์หาค่าความเข้มข้นของ benzophenone-3 ที่ทำให้กุ้งขาวตายครึ่งหนึ่งภายในเวลา 24 ชั่วโมง (median lethal concentration; LC50-24 hr) ด้วยวิธี probit analysis พบว่า BP-3 มีค่า LC₅₀ ต่อกุ้งขาวเท่ากับ 1.365 mg/L ซึ่งจัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงต่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในน้ำ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา เมื่อใช้ร่วมกับการตรวจสอบปริมาณ BP-3 ที่พบในสิ่งแวดล้อม สามารถใช้เฝ้าระวังผลกระทบจากการปนเปื้อน BP-3 ต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวและสัตว์น้ำเศรษฐกิจในฟาร์มในอนาคต