Abstract:
แมลงวันลาย (Diptera: Stratiomyidae) เป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการขยะอินทรีย์ โดยหนอนของแมลงวันลายสามารถบริโภคและย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ถึง 70% ในขณะเดียวกันยังสามารถเปลี่ยนแปลงสารอินทรีย์เป็นชีวมวลร่างกายและปุ๋ยชีวภาพได้ ร้านค้าส่วนใหญ่ในเมืองที่มีการแปรรูปอาหารไม่ได้นำกากจากการแปรรูปไปใช้ประโยชน์เช่นการใช้เป็นอาหารสัตว์หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บางอย่างได้เนื่องจากข้อจำกัดในการจัดการภายในเมือง ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการเจริญเติบโตของหนอนแมลงวันลาย (Diptera: Stratiomyidae) และความสามารถในการย่อยสลายกากจากการแปรรูปอาหาร 4 ชนิดที่พบได้ในเมืองคือ 1) กากถั่วเหลือง 2) กากมะพร้าว 3) กากกาแฟ และ 4) ชุดควบคุมโดยให้อาหารที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ (รำข้าวหยาบร้อยละ 40 กากน้ำตาลร้อยละ 40 และข้าวสารเหนียวร้อยละ 20) โดยใส่หนอน 20 ตัวในกากอาหาร 25 กรัม ในภาชนะ 650 mL ทั้งหมด 12 ซ้ำต่อกลุ่มการทดลอง เลี้ยงที่ 33 °C เป็นเวลา 14 วัน โดยวัดการเจริญของหนอนอายุ 6-14 วัน จากผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยน้ำหนักแห้งของหนอนมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มอาหารต่าง ๆ (F=153.940, df=3, 44, p<0.001) โดยน้ำหนักแห้งของหนอนเมื่อสิ้นสุดการศึกษาที่เลี้ยงในถั่วเหลืองมีมากที่สุด (47.6±5.9 mg/ตัว) ตามมาด้วยกลุ่มควบคุม (37.7±5.2 mg/ตัว) กลุ่มกากมะพร้าว (10.7±6.9 mg/ตัว) และกลุ่มกากกาแฟ (5.1±4.8 mg/ตัว) ตามลำดับ ซึ่งค่าเฉลี่ยน้ำหนักแห้งของกลุ่มกากมะพร้าวและกากกาแฟไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และค่าเฉลี่ยน้ำหนักแห้งที่ลดลงของอาหารทั้ง 4 กลุ่มแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F=589.909, df=3, 44, p<0.001) โดยน้ำหนักแห้งของกลุ่มกากถั่วเหลืองลดลงมากที่สุด (ร้อยละ 67.77±2.20) ตามมาด้วยกลุ่มควบคุม (ร้อยละ 64.38±1.31) กลุ่มกากมะพร้าว (ร้อยละ 32.04±1.61) และกลุ่มกากกาแฟ (ร้อยละ 15.54±0.73) ตามลำดับ กากถั่วเหลืองมีศักยภาพในการใช้เป็นอาหารเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเชิงพาณิชย์ได้และหนอนแมลงวันลายสามารถช่วยลดปริมาณขยะจากกากการแปรรูปอาหารได้ ซึ่งควรมีการศึกษาสัดส่วนของกากจากการแปรรูปต่าง ๆ ในอนาคต จากการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปเป็นฐานข้อมูล และยังสามารถนำมาประยุกต์กับการแก้ปัญหาขยะมูลอินทรีย์ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการลดต้นทุนและเสริมรายได้จากการเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย