Abstract:
การชนกันและการมุดตัวระหว่างแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลียกับแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกส่งผลให้ประเทศนิวซีแลนด์มีภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิสูง โดยจุดมุ่งหมายหลักของการศึกษานี้คือ เพื่อประเมินรูปแบบกลไกการเลื่อนตัวของแหล่งกำเนิดในประเทศนิวซีแลนด์ ในการศึกษานี้ ใช้ข้อมูลจำนวน 477 เหตุการณ์รวบรวมจากฐานข้อมูลกลไกการเกิดแผ่นดินไหวของหน่วยงาน Global CMT ซึ่งข้อมูลกลไกการเกิดแผ่นดินไหวในงานวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วยข้อมูลการวางตัวและการเลื่อนตัว ของรอยเลื่อน จากนั้นข้อมูลสามารถจัดแบ่งออกเป็น 2 ชุดข้อมูล ตามสภาพแวดล้อมธรณีแปรสัณฐาน (seismotectonic setting) ได้แก่ แผ่นดินไหวที่เกิดระหว่างขอบของการชนกันของแผ่นเปลือกโลกซึ่งมีความลึกอยู่ที่ 0-50 กิโลเมตร และแผ่นดินไหวที่เกิดบริเวณแผ่นที่มุดลงไปในชั้นเนื้อโลกซึ่งมีความลึกมากกว่า 50 กิโลเมตร ในกรณีของแผ่นดินไหวที่เกิดระหว่างขอบของการชนกันของแผ่นเปลือกโลก ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ร่องลึกก้นสมุทรไพรเซอเกอร์ (Puysegur Trench) และแอ่งฮิคุระงิ (Hikurangi Trench) เป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการเป็นแหล่งกำเนิดสึนามิ (susceptible tsunami source) มากที่สุด หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น นอกจากนี้บริเวณรอยเลื่อนอัลไพน์ (Alpine Fault) สามารถแบ่งขอบเขตแต่ละบริเวณเพื่อให้มีข้อมูลกลไกการเกิดแผ่นดินไหวที่เฉพาะตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์อัตราการเกิดแผ่นดินไหวตาม (aftershock) หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดบริเวณแผ่นที่มุดลงไปในชั้นเนื้อโลก ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าแผ่นเปลือกโลกถูกบีบอัดในความลึกระหว่าง 300-528 กิโลเมตร ในขณะที่ความลึกปานกลาง 50-300 กิโลเมตร แผ่นเปลือกโลกถูกดึงด้วยแรงดึงจากข้างใต้แผ่นเปลือกโลก ดังนั้น นอกจากพิบัติภัยแผ่นดินไหวแล้ว ควรมีการศึกษาการบรรเทาพิบัติภัยสึนามิบริเวณร่องลึกไพรเซอเกอและแอ่งฮิคุระงิ