Abstract:
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นภาคส่วนที่มีที่ราบมากที่สุดในประเทศ โดยมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ โดยแบ่งเป็น แอ่งสกลนครทางด้านเหนือ และแอ่งโคราชด้านใต้ ซึ่งถูกแบ่งด้วยเทือกเขาภูพานขั้นเอาไว้ โดยลักษณะดังกล่าวนั้นสามารถทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมขังได้จากพื้นที่ราบปริมาณมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้นิสิตผู้จัดทำโครงการสนใจในการหาขอบเขตพื้นที่ที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งจะใช้ค่าดัชนีภูมิประเทศในการหาพื้นที่ที่ราบน้ำท่วมถึง โดยจะทำทั้งหมดสามวิธี ได้แก่วิธี Floodplain Mapping Tool โดยวิธีนี้จะเป็นการสร้างพื้นที่ผิวน้ำสามมิติจากลักษณะธรณีสัณฐานบริเวณริมตลิ่งมาเพื่อคำนวณหาขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม Multi-Resolution Valley Bottom Flatness วิธีนี้จะเป็นการใช้ค่าดัชนีความราบเรียบ และความต่ำ ที่อยู่ในค่าศูนย์ถึงหนึ่งซึ่งได้จากการคำนวณในแต่ละช่องข้อมูลของดัชนีภูมิประเทศ จากนั้นนำทั้งสองค่ามารวมกันเพื่อหาพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง และวิธี Valley Bottom Extraction เป็นการใช้ทางน้ำเข้ามาช่วยในการหาขอบเขตที่ราบน้ำท่วมถึง และจะกำหนดความชันในการวิเคราะห์หาพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงที่ขยายออกมาจากทางน้ำ จากนั้นนำมาเปรียบเทียบขอบเขตพื้นที่กับแผนที่น้ำท่วมในอดีต และตะกอนทางน้ำยุคควอเทอร์นารี ซึ่งจากผลที่ได้นั้นวิธี Floodplain Mapping Tool มีความใกล้เคียงกับพื้นที่น้ำท่วมในอดีต และยังครอบคลุมพื้นที่ตะกอนทางน้ำเป็นส่วนมาก