Abstract:
สันเขาเป็นลักษณะทางธรณีสัณฐานที่เกิดขึ้นจากการแปรสัณฐานร่วมกับกระบวนการผุพังอย่างหนึ่ง โดยสันเขาเหล่านี้มีรูปร่างที่ไม่เป็นระเบียบ ซึ่งค่าหนึ่งที่สามารถนำมาใช้อธิบายความไม่เป็นระเบียบนี้ได้ คือ ค่ามิติแฟร็กทัล การศึกษานี้จึงสนใจการคำนวณหาค่ามิติแฟร็กทัลของแนวเส้นสันเขาในประเทศไทย โดยการแบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็นช่องเล็กที่มีขนาดเท่า ๆ กัน ซึ่งมิติแฟร็กทัลที่ใช้ในการวิเคราะห์ในการศึกษานี้มี 2 วิธี คือ การวิเคราะห์แฟร็กทัลด้วยวิธีบอกซ์เค้าน์ติ้งและวิเคราะห์ค่ามิติสหสัมพันธ์ นำมาประกอบกับข้อมูลความหนาแน่นของเส้นสันเขาและแนวโน้มการวางตัวของเส้นสันเขาผ่านแผนภาพกุหลาบ เพื่อนำไปใช้ในประกอบกับข้อมูลธรณีสัณฐานเพื่ออธิบายขอบเขตของธรณีแปรสัณฐานที่แตกต่างกัน ผลการวิเคราะห์พบว่าทิศทางหลักของแนวเส้นสันเขาอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก อย่างไรก็ตามแนวทิศทางสันเขาในแนวนี้จะเป็นแนวเส้นสันเขารองที่แตกแขนงออกมาจากเส้นสันเขาหลักที่มีการวางตัวไปในทิศทางเดียวกับแนวเทือกเขาของแต่ละเทือกเขา การเกิดของแนวเทือกเขาหลัก ๆ ของประเทศไทยสอดคล้องกับเหตุการณ์แปรสัณฐาน 3 เหตุการณ์คือ การก่อเกิดเทือกเขาอินโดไซเนียนและการชนของแผ่นเปลือกโลกพม่าตะวันตกเข้ากับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ซึ่งเหตุการณ์ทั้ง 2 มีแรงที่กระทำหลักอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก จะทำให้เกิดแนวสันเขาที่อยู่ในแนวเหนือ-ใต้และอีกเหตการณ์หนึ่ง คือ การก่อเกิดเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นแรงกระทำในแนวเหนือ-ใต้ ทำให้แนวเทือกเขาที่เกิดอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก ค่าที่ได้จากการวิเคราะห์แฟร็กทัลมีค่าตั้งแต่ 0.20 ถึง 2.97 และพบว่าแผนที่กระจายเชิงพื้นที่มีการแสดงผลไปตามแนวลองติจูด ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กับการวางตัวของเส้นสันเขาในพื้นที่ได้และจากการวิเคราะห์ค่าแฟร็กทัลที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยวิธีบอกซ์เคาน์ติ้งทีค่าตั้งแต่ 0.40 ถึง 1.69 พบว่าบริเวณที่มีค่าแฟร็กทัลสูงเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นของเส้นสันเขาสูง สอดคล้องกับบริเวณที่มีการเกิดกระบวนการแปรสัณฐานและบริเวณที่มีค่าแฟร็กทัลต่ำเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นของเส้นสันเขาต่ำ สอบคล้องกับบริเวณที่ราบที่มีการสะสมของตะกอน