Abstract:
Staphylococcus aureus เป็นเชื้อก่อโรคที่สำคัญของมนุษย์ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษจาก Staphylococcus (SFP) ทั่วโลก Escherichia coli เป็นดัชนีสุขลักษณะที่บ่งชี้การปนเปื้อนอุจจาระโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารและน้ำ การปนเปื้อน S. aureus และ E. coli บนเหรียญกษาปณ์และธนบัตรอาจก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารในหมู่ประชากรไทย ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการศึกษา คือ ตรวจหาการปนเปื้อนของ Staphylococcus aureus และ Escherichia coli บนเหรียญกษาปณ์และธนบัตรของไทย เก็บเหรียญกษาปณ์และธนบัตรโดยสุ่มจากตลาดและโซนิเคตเพื่อแยกเซลล์แบคทีเรียจากพื้นผิว สารแขวนลอยแบคทีเรียได้ถูกทำให้เข้มข้นโดยการหมุนเหวี่ยงและนำไปสกัดจีโนมิกดีเอ็นเอ ตามด้วยการเพิ่มจำนวนยีน SEA (Staphylococcal Enterotoxin A) โดยใช้คู่ไพร์เมอร์ที่จำเพาะ นำส่วนแบ่งของสารแขวนลอยแบคทีเรียมากระจายบนอาหารเลี้ยงเชื้อแข็งเพื่อหาจำนวนเซลล์แบคทีเรียทั้งหมด และเพาะเลี้ยงบนแมนนิทอลซอล์ทอะการ์ (MSA) เช่นเดียวกับ อีโอซินเมธิลีนบูลอะการ์ (EMB) เพื่อหาจำนวนของ S. aureus และ E. coli ตามลำดับ ผลได้แสดงว่า PCR ที่ใช้คู่ไพร์เมอร์ที่จำเพาะสำหรับ SEA ไม่สามารถเพิ่มจำนวนยีน SEA ใน S. aureus ATCC 13565 ที่เป็นเชื้อควบคุมผลบวก การเพาะเลี้ยง S. aureus ATCC 13565 และ E. coli MSCU 0620 บน MSA และ EMB ตามลำดับ ได้แสดงลักษณะโคโลนีที่ควรเป็น พบจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดมากที่สุดในเหรียญ 1 บาท คิดเป็น 98.4 CFU/พื้นที่ผิว (ตร.ซม.) ไม่พบ S. aureus และ E. coli บน MSA และ EMB ตามลำดับ ผลเบื้องต้นแสดงว่าบนเหรียญกษาปณ์และธนบัตรมีเซลล์แบคทีเรียน้อยมากและไม่พบการปนเปื้อนของ S. aureus และ E. coli ควรทำการทดลองต่อไปโดยใช้ตัวอย่างที่มากขึ้นเพื่อผลการทดลองที่มีนัยสำคัญทางสถิติ